สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) | พระสังฆาธิการ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)


 
ประสูติ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๕๖
พระชนมายุ ๘๖ พรรษา
พรรษา ๔๘
สิ้นพระชนม์ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๓
สถิต วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร


VIEW : 1,579

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

พระประวัติ


     สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เดิมเป็นชาวตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี ประสูติในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ ปีระกา จ.ศ. ๑๑๗๕ ตรงกับวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๕๖ บ้านเดิมอยู่บางเชิงกราน จังหวัดราชบุรี พระบิดาชื่อจัน เคยอุปสมบทและชำนาญในคัมภีร์มิลินทปัญหาและมาลัยสูตรมาก จึงได้ฉายาจากประชาชนว่า จันมิลินทมาลัย พระมารดาชื่อสุข มีพี่น้องเกิดร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน คืออวบ, ช้าง, สา, สัง, และอิ๋ม น้องชายของสมเด็จพระสังฆราช (สา) มีชื่อว่าสัง ได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้สมณศักดิ์สูงสุดที่ตำแหน่งพระสมุทรมุนี แต่ภายหลังก็ลาสิกขา ไม่ปรากฏว่าสมเด็จพระสังฆราช (สา) มีนามสกุลเดิมว่าอย่างไร ซึ่งในช่วงที่พระองค์ลาสิกขามาครองเรือนมีภรรยานั้น จึงมีทายาทที่สืบเชื้อสายมาจากพระองค์นามสกุลว่า "ปุสสเด็จ" และ "ปุสสเทโว" ซึ่งทั้งสองนามสกุลนี้ยังคงมีทายาทสืบต่อกันมาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีจนถึงปัจจุบัน


การศึกษา

     ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมอยู่วัดใหม่ในคลองบางขุนเทียนบ้านหม้อ บางตนาวสี แขวงเมืองนนทบุรี ปัจจุบันคือวัดนครอินทร์ จ.นนทบุรี แล้วย้ายไปอยู่วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร และไปเรียนพระปริยัติธรรมในพระราชวังบวรกับอาจารย์อ่อน และโยมบิดาของท่านเอง ซึ่งเป็นอาจารย์บอกหนังสืออยู่ที่พระราชวังบวรดัวยกัน เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ ปี ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก แปลได้ ๒ ประโยค จึงยังไม่ได้เป็นเปรียญ แต่คนเรียกกันว่า เปรียญวังหน้า ซึ่งมีที่มาของชื่อนี้ว่า ในการแปลพระปริยัติธรรมนั้น ผู้เข้าแปลครั้งแรกต้องแปลให้ได้ครบ ๓ ประโยคในคราวเดียว จึงจะนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าได้ไม่ครบในการสอบครั้งต่อไป จะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ครั้งนั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพมีพระประสงค์ที่จะอุปการะภิกษุสามเณรที่เข้าสอบ มิให้ท้อถอย ดังนั้นถ้ารูปใดแปลได้ ๒ ประโยค ก็ทรงรับอุปการะไปจนกว่าจะสอบเข้าแปลใหม่ ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค ภิกษุ สามเณร ที่ได้รับพระราชทานอุปการะในเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้ชื่อว่า เปรียญวังหน้า

     ต่อมา สามเณรสาได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชพำนักที่วัดสมอราย (ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร) เนื่องจากได้ยินกิตติศัพท์ว่าทรงปราดเปรื่องเรื่องภาษาบาลีจนหาผู้เทียบได้ยาก เมื่อได้สมัครเป็นศิษย์ ก็ถ่ายทอดความรู้ภาษาบาลีให้สามเณรสา จนกระทั่งเมื่อสามเณรสาอายุได้เพียงแค่ ๑๘ ปีก็สามารถแปลพระปริยัติธรรมได้ถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นที่อัศจรรย์ในความฉลาดปราดเปรื่องยิ่งนัก สมัยนั้นยังแปลพระปริยัติธรรมกันด้วยปากเปล่า (หมายถึงแปลสดให้กรรมการฟัง แล้วแต่กรรมการว่าจะให้แปลคัมภีร์อะไร หน้าเท่าไหร่) เป็นที่โจษจันไปทั่วพระนคร สามเณรสาจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงสายเปรียญธรรมรูปแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๐๘ - ๒๔๔๒  เป็น เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๔๒๒ - ๒๔๔๒  เป็น เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ
พ.ศ. ๒๔๓๖ - ๒๔๔๒  เป็น สมเด็จพระสังฆราช

อุปสมบทเป็นนาคหลวงแล้วสึก


     พระองค์ได้อุปสมบท ณ วัดราชาธิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) ซึ่งเป็นพระมอญ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวชิรญาณ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ปุสฺโส นักวิชาการหลายท่านเข้าใจว่าสามเณรสา สอบเปรียญ ๙ ประโยค ได้ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งไม่ใช่ เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๓๗๙ หลังจากสอบได้แล้วและอุปสมบทแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหารตามพระวชิรญาณภิกขุซึ่งทรงย้ายจากวัดราชาธิวาสมาพำนักที่วัดบวรนิเวศวิหารตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาสา ปุสฺโส จึงเป็นสามเณรนาคหลวงสายเปรียญธรรมรูปแรกที่จำพรรษาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร เพียงแต่ไม่ได้สอบบาลีได้ในสำนักนี้เท่านั้น

     ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะที่พระอมรโมลี ต่อมาได้ลาสิกขาไปเป็นฆราวาสอยู่ระยะหนึ่ง

อุปสมบทใหม่อีกครั้ง ที่มาของ พระมหาสา 18 ประโยค


     เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชย์ มีรับสั่งให้นำนายสา มาเข้าเฝ้า แล้วมีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า จะบวชอีกมั้ย นายสาก็กราบบังคมทูลว่า อยากจะบวช พระองค์จึงได้ทรงจัดหาเครื่องอัฐบริขารให้ ท่านจึงได้อุปสมบทครั้งที่ ๒ เมื่ออายุได้ ๓๙ ปี ตก พ.ศ. ๒๓๙๔ ณ พัทธสีมา วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู กรงเทพมหานคร โดยมีกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ (ต่อมาคือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ คราวนี้ได้ฉายาว่า ปุสฺสเทโว ขณะอายุได้ ๓๘ ปี เมื่ออุปสมบทแล้ว ว่ากันว่า ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง และทรงแปลได้หมดทั้ง ๙ ประโยค จึงมีผู้กล่าวถึงพระองค์ด้วยสมญานามว่า สังฆราช ๑๘ ประโยค ในคราวอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ พระองค์เป็นพระอันดับอยู่ ๗ ปี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระสาสนโสภณ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ รับพระราชทานนิตยภัตเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ แต่ถือตาลปัตรแฉกเสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ คนทั่วไปเรียกกันโดยย่อว่า เจ้าคุณสา

     ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ซึ่งเป็นวัดแรกที่ตั้งขึ้นใหม่ของธรรมยุติกนิกายขึ้น แล้วโปรดให้พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐฯ มีพระภิกษุติดตามจากวัดบวรนิเวศวิหารอีก ๒๐ รูป ครั้งนี้ท่านได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรม และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่พระธรรมวโรดม แต่คงใช้ราชทินนามเดิมว่า พระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ

สมเด็จพระสังฆราช


     ปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สถิต ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จนตลอดพระชนมชีพ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาเพิ่มอิสริยยศให้เป็นพิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนมา คือทรงสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ นับว่าเป็น พระมหาเถระรูปที่ ๒ ที่ได้รับสถาปนาในพระราชทินนามนี้ อันเป็นพระราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เมื่อพระองค์ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระองค์ไม่ได้รับพระราชนามพระสุพรรณบัฏใหม่ คงใช้พระสุพรรณบัฏเดิม แต่ได้รับพระราชทานใบกำกับพระสุพรรณบัฏใหม่ และมีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ ๑๖ ตำแหน่ง (ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่พิเศษ เพราะปกติจะมี ๑๕ ตำแหน่งเท่านั้น)

ผลงาน


     พระองค์ได้แต่งหนังสือเทศน์ขึ้นไว้ สำหรับใช้อ่านในวันธรรมสวนะปกติ และในวันบูชา แต่งเรื่องปฐมสมโพธิ์ย่อ ๓ กัณฑ์จบ สำหรับถวายเทศน์ในวันวิสาขบูชา ๓ วัน ๆ ละ หนึ่งกัณฑ์ และเรื่องจาตุรงคสันนิบาตกับโอวาทปาติโมกข์ สำหรับถวายในวันมาฆบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และยังได้ รจนาปฐมสมโพธิ์ภาคพิสดาร สำหรับใช้เทศนาในวัด ๒ คืนจบอีกด้วย พระนิพนธ์ต่าง ๆ ของพระองค์ ยังคงใช้ ในการเทศนา และศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุ สามเณร จนถึงปัจจุบัน งานพระนิพนธ์ของพระองค์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นงานแปลพระสูตรที่มีอยู่ ๒๐ สูตร หนังสือเทศนามี ๗๐ กัณฑ์ และเบ็ดเตล็ดมี ๕ เรื่อง

     ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งแต่เดิมจารึกไว้ด้วย อักษรขอม ด้วยการจารลงในใบลาน การคัดลอกทำได้ช้า ทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลาย ไม่พอใช้ในการศึกษาเล่าเรียน ไม่สะดวกในการเก็บรักษา และนำมาใช้อ่าน ทั้งตัวอักษรขอมก็มีผู้อ่านได้น้อยลงตามลำดับ การพิมพ์พระไตรปิฎก เป็นเล่มด้วยตัวอักษรไทย จะแก้ปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าวได้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้อาราธนาพระเถระนุเถระมาประชุม ร่วมกับราชบัณฑิตทั้งหลาย ตรวจชำระพระไตรปิฎกภาษาบาลี แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้น (เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. ๑๑๒) สมเด็จพระสังฆราช (สา) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่น เป็นรองอธิบดี จัดการทั้งปวงในการสังคายนาครั้งนี้[๓] พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ครั้งนี้มีจำนวน ๑๐๐๐ จบ ๆ ละ ๓๙ เล่ม ใช้เงิน ๒,๐๐๐ ชั่ง พิมพ์เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นที่เลื่องลือแพร่หลายไปทั่วโลก

     และทรงผูกพระคาถาหน้าบันกระทรวงกลาโหม และตราแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕ (ตราอาร์ม)

สิ้นพระชนม์


     สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ประชวรด้วยพระโรคบิดมาตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม แพทย์หลวงและแพทย์เชลยศักดิ์ต่างจัดพระโอสถถวาย แต่พระอาการไม่ทุเลา จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๓) เวลาเย็นวันต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ จากพระราชวังบางปะอินมายังวัดราชประดิษฐฯ พระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ร่วมสรงน้ำพระศพ แล้วอัญเชิญพระศพลงในพระลองในประกอบโกศกุดั่นน้อย ทรงสดับปกณณ์แล้วเสด็จกลับ

     พระศพตั้งบำเพ็ญกุศลจนถึงวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๓ (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๔) จึงอัญเชิญพระบุพโพไปพระราชทานเพลิง ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมกับพระบุพโพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ต่อมาวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๓ จึงแห่พระศพไปประดิษฐานยังพระเมรุมณฑป ณ ท้องสนามหลวง แล้วพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ศกนั้น เช้าวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ จึงเสด็จฯ มาเก็บพระอัฐิและพระอังคารแล้วโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดราชประดิษฐฯ

     หลังจากสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยตลอดรัชสมัย เป็นเวลาถึง ๑๑ ปี

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๓๘๒ เป็น พระราชาคณะ ที่ พระอมรโมลี หลังจากย้ายจากวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหารได้ ๒ ปี
พ.ศ. ๒๔๐๑ เป็น พระราชาคณะ ที่ พระสาสนโสภณ ตำแหน่งสมณศักดิ์ใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริขึ้นเพื่อพระมหาสา ผู้กลับมาบวชใหม่และสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ณ สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้งโดยเฉพาะ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์นี้เมื่อปีมะเมีย เดิมที ทรงพระราชดำริจะใช้ตำแหน่งว่า "พระสาสนดิลก" แต่พระมหาสาได้ถวายพระพรว่าสูงเกินไป จึงทรงใช้ว่า ’พระสาสนโสภณ’
พ.ศ. ๒๔๑๕ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง คณะใต้ มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระสาสนโสภณ วิมลญาณสุนทร บวรสังฆนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณาลังการวิสุทธิ ธรรมวรยุตติกคณาภิสัมมานิตปาโมกษ์ ที่พระธรรมวโรดม
พ.ศ. ๒๔๒๒ เป็น สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ ฝ่ายเหนือ ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี
พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้รับสถาปนาเพิ่มอิสริยยศ ที่ สมเด็จพระอริยวงษาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง มหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาศ ปรมินทรมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ ปุสสเทวาภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตมสาสนโสภณ วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธสาสนิกบริสัชคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสีอรัญวาสี
๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงษาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง มหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุศโลภาศ ปรมินทรมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ ปุสสะเทวาภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตมสาสนโศภน วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธสาสนิกบริสัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดดรคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี

ที่มา


ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคกลาง
wikipedia.org


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook