พระธรรมมุนี (แพ เขมงฺกโร ป.ธ.๔) | พระสังฆาธิการ

พระธรรมมุนี (แพ เขมงฺกโร ป.ธ.๔)


 
เกิด ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘
อายุ ๙๔ ปี
อุปสมบท ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙
พรรษา ๗๓
มรณภาพ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒
วัด วัดพิกุลทอง
ท้องที่ สิงห์บุรี
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 3,009

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระธรรมมุนี มีนามเดิมว่า แพ ใจมั่นคง เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘ (วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง) ณ บ้านสวนกล้วย เลขที่ ๙๓/๓ หมู่ที่ ๓ ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี โยมบิดาชื่อ เทียน ใจมั่นคง โยมมารดาชื่อ หน่าย ใจมั่นคง

   เมื่ออายุได้ ๘ เดือน นางหน่าย ใจมั่นคง โยมมารดาผู้ให้กำเนิด ได้ถึงแก่กรรม ดังนั้น นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์ สามีภรรยาซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ได้ขอเด็กชายน้อยๆ ที่มีอายุเพียง ๘ เดือน จากนายเทียน ใจมั่นคง โยมบิดาผู้บังเกิดเกล้า โดยรับอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม


การศึกษา

     เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี โยมบิดา-มารดาบุญธรรม (นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์) ได้นำเด็กชายแพ ไปฝากอยู่วัดกับสำนักอาจารย์ป้อม เพื่อที่จะศึกษาเล่าเรียนตามแบบโบราณนิยม คือ การเรียนภาษาไทย ภาษาขอม นอกจากนั้น ยังได้เรียนหนังสือมูลบทบรรพกิจ ทางธรรมก็มีพระมาลัยสูตร และยังได้หัดอ่านพระธรรม ๗ คัมภีร์

     ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี โยมบิดา-มารดาบุญธรรม ได้ส่งไปศึกษาต่อที่สำนักวัดอาจารย์สม ภิกษุชาวเขมร วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ การศึกษาในกรุงเทพฯ ขั้นแรกได้เริ่มเรียนหนังสือโบราณท่องสนธิ เรียนมูลกัจจายนสูตร เป็นเวลา ๑ ปี ต่อมา ก็ไปเป็นนักเรียนบาลีไวยากรณ์ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ฯ เขตพระนคร กรุงเทพฯ


บรรพชา

     บรรพชา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ณ วัดพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี พระอธิการพัน จนฺทสโร เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์

     ครั้นเมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้เดินทางกลับไปอยู่วัดชนะสงคราม ตามเดิม จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านสามารถสอบไล่นักธรรมชั้นตรีได้ นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ต่อไปอีก จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ นับว่าได้นำเกียรติมาสู่วัดชนะสงคราม เป็นอย่างมาก จากนั้นท่านได้ไปเล่าเรียนที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ โดยเป็นศิษย์ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)

     ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ นายเทียน ใจมั่นคง บิดาผู้บังเกิดเกล้าก็ได้ถึงแก่กรรม ท่านจึงเดินทางกลับไปจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อจัดการศพโยมบิดา แล้วกลับมาอยู่วัดชนะสงครามเช่นเดิม

     อุปสมบท เมื่อวันพุธที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ พระอุโบสถวัดพิกุลทอง โดยมี พระมงคลทิพยมุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสิทธิเตชะ วัดชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เจ้าอธิการอ่อน วัดจำปาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมงฺกโร” แปลว่า “ผู้ทำความเกษม”

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๗๔  เป็น เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง พระอารามหลวง
พ.ศ. ๒๔๘๒  เป็น เจ้าคณะตำบลถอนสมอ
พ.ศ. ๒๔๘๓  เป็น พระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๘๔  เป็น เจ้าคณะอำเภอท่าช้าง
พ.ศ. ๒๕๒๕  เป็น เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี

ฝ่ายการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๘๓  เป็น กรรมการตรวจธรรมสนามหลวง

การศึกษาพระปริยัติธรรม


     ภายหลังจากอุปสมบทแล้ว พระมหาแพ ก็ได้เดินทางกลับสู่วัดชนะสงคราม เพื่อตั้งใจศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม ให้ได้ในระดับสูงที่สุด เพื่อที่จะได้นำความรู้ ความสามารถที่ได้ฝักใฝ่ศึกษาเล่าเรียนนั้น นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อชุมชนและพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ พระมหาแพ พยายามที่จะศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ อ่านหนังสือตำราเรียนอยู่เสมอ และในปีเดียวกันนั้นท่านสอบนักธรรมชั้นโทได้

     โดยความมุมานะพยายาม โดยอาศัยแสงสว่างจากเทียนไขหรือตะเกียง โดยส่วนมากเพราะสาเหตุนี้ นัยน์ตาอันเป็นส่วนสำคัญของสังขาร ก็เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง ทุกครั้งที่ตรากตรำอ่านหนังสือมากเกินไปในที่สุด นายแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้แนะนำไม่ให้อ่านหนังสืออีกต่อไป มิฉะนั้น นัยน์ตาอาจพิการได้

     ดังนั้นภายหลังจากสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยคแล้ว การศึกษาด้านพระปริยัติธรรมก็ต้องยุติลง แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีใจใฝ่การศึกษา พระแพ เขมังกโร จึงได้ศึกษาและปฏิบัติสมถกัมมัฎฐาน วิปัสสนากัมมัฎฐานในสำนักของพระครูภาวนาฯ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จนชำนาญและดำเนินการสั่งสอนให้แก่ประชาชนทั่วไป

เริ่มเรียนจิตศาสตร์


     เมื่ออายุประมาณ ๒๔-๒๕ ปี สมัยยังศึกษาอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านได้เริ่มสนใจในทางปฏิบัติเพื่อหาความสงบทางใจ จึงเข้าอบรมและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในสำนักพระครูภาวนาฯ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้ความรู้ในแถวทางปฏิบัติมาพอสมควร และยังได้ศึกษาจากพระครูใบฎีกาเกลี้ยง วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นฐานานุกรมและศิษย์ผู้ใกล้ชิด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านสร้าง-ลบผงพุทธคุณ พระครูใบฎีกาเกลี้ยง ท่านได้เมตตาสั่งสอนอบรม และมอบตำราเกี่ยวกับจิตศาสตร์วิทยาคมให้

     ต่อมาทราบว่าในท้องที่อำเภอบางระจัน มีพระอาจารย์เรืองวิทยาคมอยู่รูปหนึ่ง มีคนนับถือและเกรงกลัวมากเพราะวาจาศักดิ์สิทธิ์ ชื่อ หลวงพ่อศรี เจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ ท่านจึงได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ จนมีความสามารถและเป็นที่โปรดปรานของหลวงพ่อศรี เป็นอย่างยิ่ง

     ท่านเล่าว่า หลวงพ่อศรี เมตตาสอนวิทยาคมให้อย่างไม่ปิดบังอำพราง และในขณะที่ก่อสร้างพระอุโบสถ หลวงพ่อศรีก็แนะนำให้ท่านสร้างแหวน และทุกครั้งที่ท่านได้สร้างเสร็จ ท่านจะนำไปถวายหลวงพ่อศรีปลุกเสก (ท่านถามหลวงพ่อศรีว่า สร้างแล้วคนนิยมกันไหม หลวงพ่อศรี ท่านบอกว่านิยมมาก ให้สร้างมากๆ ท่านจะสนับสนุน) ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อศรีนี้เอง ทำให้ท่านได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ได้สำเร็จในเวลา ๒ ปีเศษ

มรณกาล


     พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ) มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ทางคณะแพทย์ได้เห็นสมควรนำหลวงพ่อเข้าพักรักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี เนื่องจากตรวจพบว่าหลวงพ่อเป็นโรคปอดอักเสบ ทางคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาจนอาการดีขึ้น

     ต่อมาในวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ท่านอาการทรุดลง จนกระทั่งเวลา ๐๑.๓๐ น. ของวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑ ท่านได้มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ไม่รู้สึกตัว และหัวใจหยุดเต้น ทางคณะแพทย์ได้ทำการช่วยจนหลวงพ่อฟื้นคืนชีพได้สำเร็จ และทางได้ถวายดูแลรักษาจนอาการดีขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๒ หลวงพ่อท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ ณ ห้อง ๙๐๑ ชั้น ๙ อาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร ๙๔ ปี โรงพยาบาลสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี สิริอายุได้ ๙๔ พรรษา ๗๓

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็น เปรียญธรรม ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูศรีพรหมโสภิต ตำแหน่งพระครูผู้จัดการพระปริยัติธรรมและธรรมวินัย
พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสุนทรธรรมภาณี [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสิงหคณาจารย์ พิศาลมงคลกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]
๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพสิงหบุราจารย์ ไพศาลสิทธิมงคล วิมลศาสนกิจจาทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]
๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมมุนี สุทธศีลาจาร ไพศาลประชานารถ โอภาสศาสนกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [4]

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๗, ตอนที่ ๖๐ ง, ๑๖ เมษายน ๒๕๒๓, หน้า ๑๑
2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๔, ตอนที่ ๒๕๓ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐, หน้า ๘
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๙, ตอนที่ ๑๐๑ ง, ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕, หน้า ๔
4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๓, ตอนที่ ๑๐ ข, ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙, หน้า ๖
kittinako.blogspot.com
ลานธรรมจักร


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook