พระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม ป.ธ.๖) | พระสังฆาธิการ

พระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม ป.ธ.๖)


 
เกิด ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒
อายุ ๗๕ ปี
อุปสมบท ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
พรรษา ๕๕
มรณภาพ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
วัด วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด ธรรมยุติกนิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๖


VIEW : 1,696

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระพรหมมุนี มีนามเดิมว่า สังวาลย์ บุญมาก เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ (วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม) ณ บ้านหมู่ที่ ๘ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ โยมบิดาชื่อกริ่ม บุญมาก โยมมารดาชื่อพริ้ง บุญมาก

     เมื่อเยาว์วัย ได้รับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนประชาบาลวัดบ้านแก่ง อันเป็นวัดใกล้บ้านจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ขณะมีอายุเพียง ๙ ขวบเท่านั้น ซึ่งนับว่าเรียนได้เร็วมากสำหรับเด็กในสมัยนั้นอันแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีแววทางการศึกษาและมีความเฉลียวฉลาดในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ มาแต่เยาว์วัย

     เมื่อเยาว์วัย ท่านเป็นน้องที่เป็นที่รักของพี่สาว (คือนางขาว เหมพิจิตร) มาก เพราะเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาด ขยันหมั่นเพียรเอาการเอางาน ไม่ว่าพี่สาวจะทำไร่หรือจะทำนาก็เอาใจใส่ช่วยเหลือ เมื่อจบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔ แล้ว นึกอยากจะเข้ามาอยู่กรุงเทพมหานครกับพระที่อยู่ตำบลเดียวกันที่อยู่กรุงเทพฯขณะนั้น คือพระปลัดรัตน ตุฏฺฐจิตฺโต (โตติยะ) วัดดวงแข (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณวิสุทธิเถร วิ. เจ้าอาวาสวัดดวงแข ปีนั้นพี่สาวขายข้าวไปหลายเกวียนได้เงินมาจำนวนหนึ่งกะว่าจะเก็บไว้ซื้อเข็มขัดนากแต่เห็นว่าน้องชายอยากจะมาอยู่กรุงเทพฯจึงได้ตัดใจมอบเงิน ๘ บาทให้น้องชายเพื่อเป็นค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายสำหรับมาอยู่กรุงเทพฯ

     พ.ศ. ๒๔๗๒ เมื่ออายุเพียง ๑๐ ขวบท่านก็ได้เดินทางเข้าทาอยู่กรุงเทพฯ โดยชั้นแรกมาอยู่กับพระปลัดรัตนที่วัดดวงแข ต่อมาจึงย้ายไปอยู่กับพระครูธรรมาภิวัฒน์ (ทองสุก) ที่วัดเครือวัลย์ และได้อยู่เป็นศิษย์วัดนั้น ๔ ปี และในคราวที่มาอยู่กรุงเทพฯนี่เองที่ได้เปลี่ยนชื่อจาก สังวาลย์ เป็น ลมัย แต่พี่สาวคนโตของท่านก็ยังคงเรียกท่านว่า สังวาลย์ ตลอดมา


บรรพชาอุปสมบท

     บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ อายุได้ ๑๔ ปี ณ วัดเครือวัลย์ โดยมี พระเมธาธรรมรส (เสาร์ โสริโย ป.ธ.๖) วัดพิชยญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ (ได้รับฉายาเป็นสามเณรว่า เกสโล)

     เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้วท่านก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดเครือวัลย์นั้นตลอดมา

     และในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ นั้น พระครูธรรมาภิวัฒน์ (ทองสุก) ก็พามาฝากกับท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (สุจนเถร) วัดบวรนิเวศวิหาร ขณะเมื่อยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระสุพจนมุนี เพื่อให้อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไปในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร

     อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ขณะดำรงคสมณศักดิ์ที่พระสุพจนมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระรัตนธัชมุนี (จู อิสฺสรญาโณ) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพเมธี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "ปุญฺาญราโม" และในคราวอุปสมบทนี้เองที่ได้เปลี่ยนชื่อจากลมัยเป็นวิชมัยสืบมา


การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๗๑ สำเร็จการศึกษาชั้น ประถมปีที่ ๔ จาก โรงเรียนบ้านแก่ง
พ.ศ. ๒๔๗๘ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. ๒๔๗๘ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๙ สอบได้ นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๗๙ สอบได้ เปรียญธรรม ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๐ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๘๐ สอบได้ เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๖ สอบได้ เปรียญธรรม ๖ ประโยค

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

 กรรมการมหาเถรสมาคม
 เจ้าคณะภาค ๔ - ๕ - ๖ - ๗ (ธ)
 กรรมการคณะธรรมยุต
 พระอุปัชฌาย์
 ประธานกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร
 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ฝ่ายการศึกษา

ผู้ช่วยแม่กองธรรมสนามหลวง
กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
ผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย

มรณกาล


     พระพรหมมุนี เข้ารับการผ่าตัดโรคหัวใจในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จากนั้นสุขภาพก็เริ่มอ่อนแอลง มีโรคต่าง ๆ แทรกซ้อนเรื่อยมา จนกระทั่งมรณภาพในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว สิริรวมอายุได้ ๗๕ ปี ๕๕ พรรษา

สมณศักดิ์


๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปัญญาภิมณฑ์มุนี
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชกวี นรสีหพจนปิลันธน์ คันถรจนาบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวราภรณ์ ธรรมนีติปกรณ์คุณาลังการ ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมดิลก ศากยปุตติยนายก ตรีปิฎกบัณฑิต วิจิตรศาสนคุณากร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ อุดมคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๖, ตอนที่ ๑๑๕ ง, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒, หน้า ๕
2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๑, ตอนที่ ๑๑๘ ง, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๗, หน้า ๑
3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๐, ตอนที่ ๑๗๗ ง, ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๖, หน้า ๑
ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคเหนือ


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook