พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ ป.ธ.๓) | พระสังฆาธิการ

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ ป.ธ.๓)


 
เกิด ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙
อายุ ๘๗ ปี
อุปสมบท ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙
พรรษา ๖๗
มรณภาพ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖
วัด วัดพระบรมธาตุไชยา ราชวรวิหาร
ท้องที่ สุราษฎร์ธานี
สังกัด มหานิกาย
วุฒิการศึกษา ป.ธ.๓


VIEW : 2,039

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล


ชาติภูมิ

     ท่านพุทธทาสภิกขุ มีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมียในสกุลของพ่อค้าที่ตลาดพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นพุมเรียงยังเป็นที่ตั้งของตัวเมืองไชยา หรือจังหวัดไชยา ก่อนที่จะกลายมาเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน

     บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เซี้ยง พานิช ประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นคนไทยเชื้อสายจีน เนื่องจากปู่ของท่านพุทธทาสภิกขุอพยพจากมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน มาเป็นช่างเขียนภาพสีบนกระจกที่เมืองไชยา ย่าของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อส้มจีน ซึ่งเชื้อสายของย่าอพยพจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาอยู่เมืองไชยาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุใช้แซ่โข่วหรือข่อ (หรือโค้ว ในภาษาแต้จิ๋ว) ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงเปลี่ยนนามสกุลของบิดาท่านเป็น พานิช เพราะตอนนั้นมีเพียงครอบครัวของท่านเท่านั้นที่ทำการค้าขาย

     งานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดาท่านพุทธทาสภิกขุคืองานด้านช่างไม้ โดยในเวลาว่าง บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุจะทำการต่อเรือไม้เป็นอาชีพเสริม ซึ่งทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุสนใจ และชอบในงานด้านนี้ไปด้วย แม้ที่สวนโมกขพลาราม งานไม้ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการทำกันเองของคณะสงฆ์ นอกจากนี้ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุยังมีความสามารถในทางกวี ซึ่งความสามารถด้านนี้ส่งอิทธิพลต่อท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างมาก โดยผลงานธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุส่วนหนึ่งได้ประพันธ์ไว้ในรูปร้อยกรอง ซึ่งมีความไพเราะ และดึงดูดใจให้คนทั้งหลายเข้าถึงเนื้อหาธรรมะได้ง่ายขึ้น

     มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เคลื่อน พานิช เกิดที่อำเภอท่าฉาง ตาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อเล่ง มียศเป็นขุนสิทธิสาร ปกครองหัวเมืองกระแดะ หรืออำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน ครอบครัวของตายายมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติสมาธิภาวนากันภายในบ้านเรือน ทำให้มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนานี้ได้ส่งต่อมาที่บุตร และหล่อหลอมให้เด็กชายเงื่อม พานิช กลายเป็นท่านพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา

     ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องสองคน ซึ่งมีอายุห่างจากท่านพุทธทาสภิกขุ ๓ ปี และ ๖ ปี ตามลำดับ น้องคนโตเป็นชาย ชื่อ ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธรรมทาส พานิช และได้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และสนองงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ส่วนน้องสาวคนสุดท้องของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ กิมซ้อย พานิช ซึ่งภายหลังแต่งงานไปอยู่บ้านดอน[๒] และใช้นามสกุลสามีว่า เหมะกุล


อุปสมบท

     อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ อุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก โดยมี พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และ พระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับฉายาว่า อินทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่


การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๗๓ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค


เกียรติคุณ


๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้รับถวายพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับถวายอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับถวายปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับถวายศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๙๒  เป็น เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา
 ประธานสงฆ์ สวนโมกขพลาราม

     นอกจากสมณศักดิ์และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังได้รับการยกย่องจากองค์กรต่างๆ ดังนี้

     พ.ศ. ๒๕๐๘ หนังสือแก่นพุทธศาสน์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือดีประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๘ จากองค์การยูเนสโก
     พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลทำประโยชน์ฝ่ายบรรพชิตเนื่องในโอกาสสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ได้รับรางวัลเป็นสัญลักษณ์เสาอโศก และเงินสดจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท
     พ.ศ. ๒๕๓๗ คุรุสภาประกาศยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างสูงยิ่งต่อการศึกษาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี กระทรวงศึกษาธิการ
     ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์
     พ.ศ. ๒๕๔๙ รัฐบาลไทย รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมทางธรรมะเนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล ท่านพุทธทาสภิกขุ

มรณภาพ


     พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ สิริรวมอายุ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านรับมรดกความเป็น "พุทธทาส" เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนาดังบทประพันธ์ของท่านที่ว่า

     พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา
พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย
พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย         โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ
แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง
ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง
ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็น เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูอินทปัญญาจารย์
๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระอริยนันทมุนี
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชชัยกวี สมาธินทรีย์คณาธิปัตย์ โมกขพลวัตรธรรมสุนทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิสุทธิเมธี ศรีภาวนาจารย์ สุนทรญาณพิสิฏฐ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก ตรีปิฎกธรรมภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๔, ตอนที่ ๑๐๗ ง, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๐, หน้า ๒๙๕๓
2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๘, ตอนที่ ๑๕๑ ง, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔, หน้า ๒
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๔, ตอนที่ ๒๕๓ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐, หน้า ๑
ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคใต้


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook