พระนิกรครุนาถมุนี (เลื่อน รตฺตญฺญู) | พระสังฆาธิการ

พระนิกรครุนาถมุนี (เลื่อน รตฺตญฺญู)


 
วัด วัดสามแก้ว
ท้องที่ ชุมพร
สังกัด ธรรมยุติกนิกาย


VIEW : 1,942

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระนิกรครุนาถมุนี มีนามเดิมว่า เลื่อน สุวรรณมณี (ชื่อเดิม นายแย้ม สุวรรณมณี ใช้นามสกุลของมารดา) เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ บิดาชื่อ นายบุญแก้ว ทองแก้วกูล มารดาชื่อ นางสาย ทองแก้วกูล มีภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านป่าขาด อยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ปัจจุบันอยู่ในเขต อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา บิดามารดาของท่านประกอบอาชีพการกสิกรรมเหมือนบุคคลทั่วไปในสมัยนั้น มีพี่น้อง ๘ คน คือ

     ๑. พระนิกรครุนาถมุนี
     ๒. นางเข้ม ทองแก้วกูล
     ๓. นางขุ้ยห้อง ทองแก้วกูล
     ๔. นายยิ้ม ทองแก้วกูล
     ๕. นางเนียม ทองแก้วกูล
     ๖. นางขิบ ทองแก้วกูล
     ๗. นายตีบ ทองแก้วกูล
     ๘. นายเลื่อน ทองแก้วกูล

     เมื่อท่านมีอายุได้ ๕ ปี ครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ครั้นพ่อ-แม่เห็นว่าเจริญวัยพอสมควรจะได้รับการศึกษาเล่าเรียนได้แล้ว จึงส่งให้ไปเรียนหนังสือกับพระภิกษุที่วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เนื่องจากสมัยนั้นโรงเรียนยังไม่มี การเรียนหนังสือสำหรับเด็กผู้ชายจะต้องไปเรียนที่วัด ท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนจนมีความรู้อ่านออกเขียนได้

     ภายหลังจากที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพอสมควรแล้วจึงได้บวชเป็นสามเณรที่วัดใต้ หรือมีชื่อเป็นทางการว่า วัดดอนรักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ครั้นบวชแล้วก็ได้จำพรรษาอยู่หนึ่งพรรษาจึงลาสิกขา

     เมื่อลาสิกขาแล้วก็ได้ออกมาช่วยบิดา-มารดาประกอบอาชีพ ขณะที่ท่านอายุได้ ๑๗ ปี ได้เริ่มศึกษาทางด้านไสยศาสตร์กับ อาจารย์ดำ ซึ่งเป็นน้าชาย และได้ไปขอเรียนวิชากับผู้อื่นอีกหลายคนด้วยกัน มีทั้งคฤหัสถ์และภิกษุสงฆ์ จนอายุได้ ๒๐ ปี จึงได้ภรรยาชื่อ นางขำ มีบุตรด้วยกัน ๑ คน ชื่อ นายแจ้ง อยู่ครองเรือนกันมา ๒ ปี ก็ได้เลิกราจากกัน พออายุได้ ๒๒ ปี ก็ออกจากบ้านท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง การเดินทางในสมัยนั้นก็ไม่ได้สะดวกเหมือนปัจจุบัน คือไม่มีรถมีเรือ ฉะนั้นการเดินทางจึงต้องเป็นไปแบบบุกป่าฝ่าดง สถานที่ซึ่งท่านเดินทางไปก็มี เช่น อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช, อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และ จังหวัดกระบี่

     มาถึงตรงนี้คงจะเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตของท่านคือ เล่ากันว่า อยู่มาวันหนึ่งได้มีงานเทศกาลที่วัดบางเหรียงใกล้บ้านท่าน มีผู้คนใกล้ไกลมาเที่ยวงานกันคับคั่ง และตัวท่านเองก็ได้เข้าไปเที่ยวงานกับเขาด้วย และบังเอิญในวันนั้นท่านได้ทะเลาะวิวาทกับนักเลงในถิ่นเดียวกัน ถึงขั้นตัวท่านเองถูกรุมตีจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด และในวินาทีนั้นเองเหตุการณ์ก็ได้เข้ามาพลิกผันชีวิตของท่าน คือท่านได้ตัดสินใจใช้มีดพกติดตัวแทงฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิตไปสองคน และท่านก็ได้กลายเป็นผู้ร้ายฆ่าคนไปโดยทันที โดยมีโทษฉกรรจ์ติดตัว ภายหลังเจ้าหน้าที่บ้านเมืองพยายามจับกุมตัวท่านหลายครั้ง แต่ท่านก็หนีรอดไปได้ทุกครั้ง นอกจากนั้นท่านก็ยังรวบรวมสมัครพรรคพวกในวัยฉกรรจ์ทั้งหลายได้ประมาณ ๓๐ คน ทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วทั้งจังหวัดสงขลาและพัทลุง ในนามของ เสือแย้ม ครั้งสุดท้ายในการปะทะกับกองกำลังเจ้าหน้าที่ครั้งใหญ่ จนทำให้ลูกน้องทั้งหมดของท่านถูกยิงตาย เหลือเพียงท่านคนเดียวที่เอาตัวรอดด้วยความเฉลียวฉลาดและแกร่งกล้าในวิชาอาคม แต่ก็ต้องหลบหนีการตามล่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะทางที่ยาวไกล คือท่านต้องเดินทางในป่าจากจังหวัดสงขลาเข้าเขตพัทลุง ตรัง และเข้าไปอยู่ในเขตจังหวัดกระบี่ เล่ากันว่าที่จังหวัดกระบี่นี้เอง ท่านพยายามที่จะกลับตัวเป็นคนดีและตั้งหน้าทำมาหากินเยี่ยงสุจริตชนทั่วไป โดยการแต่งงานมีครอบครัวทำไร่ทำนาอยู่ที่จังหวัดกระบี่ ที่จังหวัดกระบี่ท่านก็ได้ภรรยาอีก ๑ คน และมีบุตรด้วยกัน ๑ คน ชื่อ นายมณี สืบต่อมาก็ได้เลิกราจากกันอีก แต่แล้วชีวิตของท่านก็ต้องหักเหอีกครั้งหนึ่งคือ ในช่วงระยะที่ภรรยาของท่านตั้งครรภ์ ในขณะนั้นทางราชการกลับสืบรู้ว่าเสือแย้มยังมีชีวิตอยู่และหลบหนีไปกบดานอยู่ในจังหวัดกระบี่ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็เปิดยุทธการตามล่าตัวเสือแย้มทันที ในช่วงนี้ท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิดได้ฟังอยู่บ่อยครั้งว่า ท่านต้องหลบหนีการไล่ล่า โดยต้องเดินป่าจากจังหวัดกระบี่เข้าสู่ป่าเขตบ้านดอนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านต้องอดข้าวอดปลาเป็นเวลาถึง ๙ วัน เพราะป่าสมัยนั้นเป็นป่ารกทึบไม่มีผู้คนเหมือนสมัยนี้ จะอาศัยอยู่บ้างก็แต่ยอดไม้และผลไม้เท่าที่พอจะเก็บกินได้ ท่านเล่าว่าขณะที่อดอาหารถึงวันที่ ๙ ท่านเริ่มทอดอาลัยในชีวิต ร่างกายก็อ่อนล้าจนไม่สามารถจะเดินทางต่อไปอีกได้และคิดว่าครั้งนี้คงจะเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต จึงตัดสินใจปีนขึ้นไปบนต้นไม้เอาผ้าขาวม้าผูกเป็นเปลและตั้งใจจะรอความตายอยู่ที่นั้น มาถึงตรงนี้ดูๆ แล้ววิถีชีวิตของ หลวงพ่อเลื่อน คล้ายกับนิยาย ที่มีทั้งความตื่นเต้นและสะท้อนภาพของความลึกลับของวิถีชีวิต ซึ่งเราท่านทั้งหลายยากแก่การจะเข้าใจ นั่นก็คือขณะที่ท่านผูกเปลนอนอยู่นั้น ประจวบกับวันนั้นเป็นวันที่ หลวงปู่พลับ เจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้พาผู้คนจำนวนหนึ่งไปตัดไม้ป่าบริเวณนั้นเพื่อนำไปสร้างโบสถ์ หรือหลวงปู่พลับจะมีญาณพิเศษทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าก็ไม่มีใครจะทราบได้ เพราะท่านได้พาคนตรงไปในป่าที่ หลวงพ่อเลื่อน ผูกเปลนอนอยู่ เมื่อหลวงปู่พลับมองเห็นท่านก็เรียกลงมาถามไถ่ได้ความละเอียดแล้ว หลวงปู่พลับก็ได้อบรมสั่งสอนถึงคุณธรรมต่างๆ ชี้ผิดชอบชั่วดี หลวงพ่อเลื่อน ก็รับฟังด้วยความประทับใจและซาบซึ้งในสาระของชีวิตที่หลวงปู่พลับหยิบยกขึ้นมาสั่งสอนให้ฟัง เมื่อรับประทานอาหารและหลวงปู่พลับเสร็จภารกิจก็ได้พา หลวงพ่อเลื่อน กลับวัดธรรมบูชา จากนั้นท่านก็ได้ไปพลอยอาศัยอยู่กับเพื่อนฝูงที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ และได้เปลี่ยนชื่อจาก นายแย้ม เป็น นายเลื่อน ตั้งแต่บัดนั้นมา


อุปสมบท

     อยู่มาภายหลังท่านได้อุปสมบทที่ วัดธรรมบูชา โดยมี หลวงปู่พลับ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้เล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า พอท่านบวชได้ ๑ พรรษา ก็จะลาสิกขา วันหนึ่งท่านขึ้นไปหาหลวงปู่พลับและเรียนให้หลวงปู่ทราบว่า จะขอลาสิกขาเพื่อไปประกอบอาชีพเยี่ยงฆราวาสทั่วไป แต่หลวงปู่พลับบอกว่า ถ้าจะสึกก็ได้ท่านไม่ขัดข้อง แต่ว่าคนเรานั้นเมื่อบวชเรียนแล้วก็ควรจะเข้าถึงสาระของพระศาสนาบ้างก่อนที่จะสึกหาลาเพศ สาระที่ว่านี้คือการปฏิบัติกัมมัฏฐานและเจริญวิปัสสนา ว่าดังนั้นแล้วท่านก็ถ่ายทอดและชี้แนะในการทำกัมมัฏฐาน การเจริญวิปัสสนา โดยบอกให้กลับไปทดลองทำสักระยะหนึ่งแล้วค่อยกลับมาลาสิกขาหลวงพ่อเลื่อน ก็ได้กลับไปทำกัมมัฏฐานและเจริญวิปัสสนาตามที่หลวงปู่พลับบอก จากการปฏิบัติจุดนี้เองทำให้ท่านเกิดความสว่างไสวในธรรมะและพบเห็นแก่นแท้ของชีวิตตลอดจนสรรพสิ่ง จึงทำให้ท่านตัดสินใจเด็ดขาดว่า ชีวิตนี้จะอุทิศให้กับพระศาสนา จะไม่ขอสึกหาลาเพศต่อไปอีกแล้ว และท่านก็ได้พำนักอยู่กับหลวงปู่พลับที่วัดธรรมบูชานั่นเอง

     ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) วัดราชาธิวาส ได้ขอให้หลวงปู่พลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสามแก้ว ซึ่งในการนี้ หลวงพ่อเลื่อน ก็ได้ติดสอยห้อยตามหลวงปู่พลับมาอยู่ที่วัดสามแก้วด้วย

     ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม ได้ขอให้หลวงปู่พลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนรักษ์ จังหวัดสงขลาและส่งพระมหาจรูญ ป.ธ.๕ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสามแก้ว ส่วน หลวงพ่อเลื่อน ก็จะย้ายติดตามหลวงปู่พลับด้วย แต่พระมหาจรูญก็ขอร้องให้อยู่ช่วยงานที่วัดสามแก้ว ท่านก็ยินดี จึงได้พำนักอยู่วัดสามแก้วต่อไป

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๗๗  เป็น เจ้าอาวาสวัดเขาถล่ม
พ.ศ. ๒๔๘๔  เป็น เจ้าคณะแขวงปะทิว (เจ้าคณะอำเภอปะทิว)
พ.ศ. ๒๔๘๖  เป็น เจ้าอาวาสวัดสามแก้ว
พ.ศ. ๒๔๘๗  เป็น พระอุปัชฌาย์
 ผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดชุมพร (ธ)

บั้นปลายชีวิต


     ในบั้นปลายชีวิตของ หลวงพ่อเลื่อน นั้น ท่านอาจารย์บุญรอด ญาณวโร (ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดแก้วประชาราม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี) ซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิดผู้หนึ่งเล่าว่า ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๓ คืนนั้นฝนตกหนักมาก รุ่งขึ้นในตอนเช้าท่านใช้ให้นายปรีชาไปซื้อนกย่างที่เขาหาบขายผ่านหน้าวัด แล้วให้แม่ครัวของวัดทำถวายให้ท่านฉัน หลังจากนั้นท่านบ่นว่า ปวดกรามมาก ด้วยเกิดเป็นแผลที่เหงือก สันนิษฐานว่าคงถูกกระดูกนกทิ่มตำเอาขณะที่ท่านฉัน ซึ่งท่านก็ได้กล่าวว่า เป็นบุพกรรมที่เข้ามาตัดรอนท่าน เพราะในเบื้องต้นของชีวิตท่านเคยสร้างกรรมเอาไว้มาก และท่านยังพูดอีกว่า หากไม่มีกรรมเก่ามาตัดรอน ท่านจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ ๙๒ ปี แต่ตอนนี้คงอยู่ไปไม่ถึงป่านนั้นแล้ว

     หลังจากที่ท่านกล่าวเช่นนั้น ในหลายวันต่อมาอาการก็กำเริบ เจ็บปวดหนักขึ้นทุกที ทั้ง คุณหมอสุชาติ บุรพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพร และ หมอประกอบ มีสมบูรณ์ ผู้เป็นอนามัยจังหวัดในขณะนั้นมาตรวจดูอาการ และแนะนำให้นำไปรักษาที่กรุงเทพมหานคร และท่านก็ได้เดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช โดยมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และท่านผู้หญิง รับเป็นเจ้าของไข้ ทางโรงพยาบาลศิริราชได้วินิจฉัยพบว่าท่านเป็นมะเร็งที่กระดูกกราม และไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ ท่านรักษาตัวอยู่ ๑ พรรษา และกลับมาวัดสามแก้วในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๖ รวมเวลาที่ท่านอาพาธอยู่เกือบ ๓ ปี อาการหนักบ้าง เบาบ้าง อันถือเป็นธรรมดาแห่งสังขาร

     พอถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๒๕๐๖ ท่านประชุมพระภิกษุและสามเณรในวัด หลังจากให้โอวาทแล้วท่านประกาศว่า เลยวันพระไป ๗ วัน ท่านจะละสังขารแล้ว พอถึงวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันศุกร์ เวลาสองนาฬิกาสิบห้านาทีท่านได้ละสังขาร มรณภาพไปด้วยอาการสงบ และเป็นที่น่าประหลาดใจว่าช่วงเวลาที่ท่านสิ้นลมหายใจ นาฬิกาทุกเรือนในวัดได้หยุดเดินเหมือนจะเป็นสัญญาณให้เราทั้งหลายได้ระลึกถึงความไม่ประมาทในมัจจุราช อันไม่มีผู้ใดหนีพ้น รวมสิริชนมายุของท่าน ๗๓ ปี

     การมรณภาพของ หลวงพ่อเลื่อน ในครั้งนี้ ได้ยังความเศร้าโศกเสียใจให้กับศิษยานุศิษย์และประชาชนผู้เคารพนับถือท่านเป็นล้นพ้น เพราะเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรได้หักสะบั้นลงแล้ว ยังคงปรากฏเหลือเพียงคำสอนและวัตถุธรรมต่างๆ ที่ท่านได้สร้างไว้ให้กับคณะศิษย์เท่านั้น

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็น พระปลัด ฐานานุกรมใน พระภัทรธรรมธาดา
พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูนิกรครุนาถ
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระนิกรครุนาถมุนี

ที่มา


ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคใต้


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook