พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.๘) | พระสังฆาธิการ

พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.๘)


 
เกิด ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖
อายุ ๗๗ ปี
อุปสมบท ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๖
พรรษา ๕๗
มรณภาพ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔
วัด วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 1,879

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระพรหมกวี มีนามเดิมว่า วรวิทย์ ธรรมวรางกูร เกิดวันจันทร์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ ณ บ้านหนองบัว หมู่ที่ ๙ ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โยมบิดาชื่อ นายคำมา ธรรมวรางกูร (เพียสีนุย) โยมมารดาชื่อ นางคำ ธรรมวรางกูร

     หลวงพ่อเป็นคนที่มีอุปนิสัยจริงจังกับงานตั้งแต่เด็ก มีความขยันหมั่นเพียร เป็นคนรักเพื่อน รับอาสาทำงานต่างๆ ตามที่เพื่อนขอร้องเสมอ ท่านจึงมีเพื่อนมาก เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย เรียกว่า ใจนักเลงพอสมควร ท่านได้ช่วยโยมมารดาบิดาทำไร่ไถนาด้วยความวิริยอุตสาหะเรื่อยมา ท่านมีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน ดังนี้

     ๑. เด็กชายบุญยัง ธรรมวรางกูร (เสียชีวิตเมื่อวัยเยาว์)
     ๒. นายบุญนำ ธรรมวรางกูร
     ๓. พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ/ธรรมวรางกูร)
     ๔. พระราชปริยัตยาจารย์ (เส็ง ยโสธโร/ธรรมวรางกูร)
     ๕. นายธีรโชติ ธรรมวรางกูร
     ๖. นายชลธีร์ ธรรมวรางกูร
     ๗. นางคำนาง ฝากกาย
     ๘. นางหอมจันทร์ แขกน้อย
     ๙. นายสมบุญ ธรรมวรางกูร


อุปสมบท

     อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ณ พัทธสีมาวัดอินทรแบก อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมี พระวิสุทธิธรรมาจารย์ (ทรัพย์) วัดใหม่กรงทอง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี อดีตเจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรีสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า คงฺคปญฺโญ แปลว่า ผู้มีปัญญาดุจดังแม่น้ำคงคา

     ท่านมีความชำนาญด้านกฎหมายคณะสงฆ์ ด้านงานสารบรรณ ด้านสังฆกรรม และที่โดนเด่นที่สุด คือ ด้านกวีนิพนธ์ อาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นนักกวีพระสงฆ์ที่โดดเด่นที่สุดในยุคนี้ทีเดียว นอกจากนั้น ได้ปฏิบัติหน้าที่ทางการคณะสงฆ์หลายอย่าง เช่น เป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๐ เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ เป็นเจ้าคณะภาค ๑๐ ถึง ๕ สมัย เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๖ ถึง ๔ สมัย เป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม รูปที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

     ในด้านสาธารณูปการ ถือว่าพลิกฟื้นเสนาสนะสงฆ์ เขตพุทธาวาส และอาณาบริเวณของวัดโมลีโลกยารามที่ทรุดโทรมอย่างหนัก เฉพาะในปีพ.ศ. ๒๕๔๗-พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้เริ่มบูรณเสนาสนะสงฆ์ รวมทั้งเขตพุทธาวาสอย่างจริงจังทำให้มีเสนาสนะที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุสามเณรอย่างเพียงพอ นอกจากนั้น ท่านได้สร้างศูนย์การคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ทั้งในส่วนอาณาบริเวณ อาคารหอประชุม เป็นต้น เพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนาภาค ๑๐ นับเป็นศูนย์การคณะสงฆ์ระดับภาคแห่งแรกอย่างเป็นทางการ

     ในด้านการศาสนศึกษา ในยุคนี้นับได้ว่าพลิกฟื้นสำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามจากการที่มีผู้สอบบาลีได้เพียง ๒-๓ รูป เท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อได้รับการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ได้มากขึ้นถึง ๘๑ รูป ในปีก่อนที่มรณภาพ (๒๕๕๓) ทำให้สำนักเรียนที่ทรุดโทรมแห่งนี้โดดเด่นขึ้นเป็นสำนักเรียนดีเด่น มีผู้สอบบาลีได้มากที่สุดในกรุงเทพมหานครหลายสมัย มีพระภิกษุสามเณรได้รับทุนเล่าเรียนหลวงในโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย มากกว่า ๓๐ รูป นับได้ว่า ท่านมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ฝากไว้แก่อนุชน ทั้งด้านการศาสนศึกษา การปกครอง การสาธารณูปการ การเผยแผ่ รวมทั้งบทกวีนิพนธ์ที่เป็นอมตะอีกมากมาย

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๕๔  เป็น เจ้าคณะภาค ๑๐
พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๕๔  เป็น เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร

มรณภาพ


     ขณะที่พระพรหมกวีเดินทางไปงานพระราชทานเพลิงศพที่อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ถึงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ ระหว่างเดินทางผ่านถนนเขตอำเภอตระการพืชผล เวลา ๑๔.๐๐ น. ได้เกิดอุบัติเหตุเพราะคนขับหลับใน ทำให้รถเสียหลักพุ่งตกคลอง ท่านได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ขาขวาหัก หมดสติ ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตระการพืชผล แล้วส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และมรณภาพจากภาวะเลือดคั่งในสมอง  เมื่อเวลา ๑๗.๔๕ น.   สิริอายุได้ ๗๗ ปี ๒๕๘ วัน พรรษา ๕๗

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็น เปรียญธรรม ๘ ประโยค
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีสุธรรมมุนี [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเมธี ศรีประสาธน์สุตาคม อุดมปฏิปกร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพปริยัติสุธี ศรีวรวุฒิกิจ ตรีปิฎกวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปริยัติโสภณ วิมลศีลาจาร สุวิธานปริยัติกิจ ตรีปิฎกวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [4]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมกวี ศีลาจารโสภณ วิมลศาสนกิจวิธาน ไพศาลปริยัตินายก ตรีปิฎกวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๑, ตอนที่ ๒๒๙ ง, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๗, หน้า ๘
2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๗, ตอนที่ ๑๘๘ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓, หน้า ๓
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๓, ตอนที่ ๒๓ ข, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๙, หน้า ๑๕
4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๙, ตอนที่ ๒๓ ข, ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๕, หน้า ๓
วัดโมลีโลกยาราม
ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคตะวันออก


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook