พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ ป.ธ.๖) | พระสังฆาธิการ

พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ ป.ธ.๖)


 
อายุ ๖๖ ปี
มรณภาพ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔
วัด วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด ธรรมยุติกนิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๖


VIEW : 1,480

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระพรหมมุนี มีนามเดิมว่า ผิน ธรรมประทีป เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนบุตรธิดา ๗ คน ของนายห้อยกับนางฮวด ธรรมประทีป เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๗ ตรงกับวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ ตำบลบ้านแหลมใหญ่ อำเภอบ้านปรก (ปัจจุบันเป็นตำบลบ้านปรก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม)

     เมื่อโตขึ้นได้ศึกษาภาษาไทยในสำนักขุนวิทยานุกูลกวี (ทองดี เครือชะเอม ป.๗ อดีตครูโรงเรียนราชกุมารราชกุมารี ในพระบรมมหาราชวัง) ณ วัดเกตุการาม จังหวัดสมุทรสงคราม ญาติของท่านฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา เป็นคริสต์ศาสนิกชนที่เคร่งครัด และมีญาติบางคนได้บวชเป็นบาทหลวงและภคินีในศาสนาคริสต์ด้วย เมื่อยังเยาว์ ท่านเคยไปภาวนาในโบสถ์คริสต์กับญาติบ้างกับผู้ปกครองบ้าง และได้เคยรับศีลล้างบาปตามประเพณีของศาสนาคริสต์ แต่ด้วยเหตุที่ศาสนาคริสต์ไม่ต้องด้วยอัธยาศัยของท่าน เพราะได้เคยได้รับความสลดใจหลายอย่างเกี่ยวกับการกระทำของพวกเด็กชาวคริสต์ที่กระทำต่อพระภิกษุสามเณร เช่น เมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรเดินบิณฑบาต ก็มักจะพากันกล่าววาจาหยาบคายต่าง ๆ ซึ่งท่านเองก็พลอยทำตามเขาด้วยในบางครั้ง ท่านเล่าว่า เคยฝันเห็นอุโบสถลอยมาในอากาศบ้าง ฝันเห็นอุบาสก อุบาสิกา นุ่งขาวห่มขาวนั่งสวดมนต์กันบ้าง ฝันเห็นตนเองปีนกำแพงเข้าไปในโบสถ์บ้าง ปกติเป็นคนมีนิสัยกลัวบาปตกนรก เมื่อศาสนาคริสต์สอนว่าฆ่าสัตว์ไม่บาป เพราะพระเจ้าสร้างมาให้เป็นอาหารของมนุษย์ ท่านเห็นว่าสอนเช่นนี้ ไม่ยุติธรรม


บรรพชาอุปสมบท

     เมื่ออุปนิสัยน้อมเข้ามาทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ครั้นอายุได้ ๑๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๓) จึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร กับพระครูธรรมธรแก้ว พฺรหฺมสาโร วัดพวงมาลัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วเล่าเรียนอยู่ในวัดนั้นเป็นเวลาปีเศษ ก็ลาสิกขาออกไปเรียนภาษาไทยที่วัดเกตุการามต่ออีก ครั้นอายุได้ ๑๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๖) ก็ได้กลับเข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่งกับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตฺโต) วัดเกตุการาม และอยู่มาจนอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเกตุการามนั้น โดยมี พระพุทธวิริยากร (จิตต ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุดมธีรคุณ (เพิ่ม อุชุโก) และพระครูธรรมธรอินทร์ ภาสกโร วัดเกตุการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

     เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติที่วัดเกตุการามนั้น ๔ พรรษา ในพรรษาที่ ๓ สอบได้นักธรรมชั้นตรี

     พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ย้ายเข้าอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงครองวัดและอยู่ในความดูแลของพระมหานายก (มณี ลิมกุล สุดท้ายเป็นพระเทพกวี แล้วลาสึกขา) ซึ่งเป็นชาวจังหวัดเดียวกัน การขบฉันในสมัยนั้นนับว่าอัตคัด สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงต้องทรงแบ่งเครื่องเสวยประทานเป็นครั้งคราวเสมอ การศึกษาเล่าเรียนของท่านก็เจริญก้าวหน้าไปเป็นลำดับ สอบได้ชั้นและประโยคต่างๆ ดังนี้


การศึกษา

นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. ๒๔๖๔ สอบได้ นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๖๔ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค (ได้รับพัดเปรียญในวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๕)
พ.ศ. ๒๔๖๕ สอบได้ เปรียญธรรม ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้ เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๗ สอบได้ เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๙ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๖๗  เป็น กรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๗๗  เป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๗๗  เป็น ประธานกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๗๘  เป็น พระคณาจารย์เอกทางคันถธุระ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางฝ่ายปริยัติ (เทียบฝ่ายบริหารเท่ากับเจ้าคณะมณฑล)
พ.ศ. ๒๔๘๑  เป็น กรรมการคณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๔๙๓  เป็น สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ ซึ่งมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก
พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็น สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ ซึ่งมีพระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายก
พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็น สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นสังฆนายก
พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๐๔  เป็น เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
 กรรมการมหาเถรสมาคม

ฝ่ายการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๗  เป็น กรรมการจัดการศึกษาของสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น กรรมการสนามหลวง ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี
พ.ศ. ๒๔๘๑  เป็น หัวหน้ากองบัญชาการมหามกุฏราชวิทยาลัย

มรณกาล


     พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔ สิริอายุได้ ๖๖ ปี ๑๒๓ วัน

สมณศักดิ์


เป็น พระครูสังฆบริบาล ฐานานุกรมใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เป็น พระครูวินัยธรรม ฐานานุกรมใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เป็น พระครูธรรมธร ฐานานุกรมใน สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์
๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสุพจน์มุนี
๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพมุนี ศรีวิสุทธศีลาจารย์ ญาณนายก ตรีปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี
๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ อุดมคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ที่มา


ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคตะวันตก


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook