สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) | พระสังฆาธิการ

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)


 
ประสูติ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๙๓
พระชนมายุ ๖๙ พรรษา
สิ้นพระชนม์ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๒
สถิต วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร


VIEW : 1,250

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

พระประวัติ


     สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมว่า มี ประสูติเมื่อวันพุธขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ตรงกับวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๙๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งอาณาจักรอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานภูมิลำเนาเดิม ต่อมาผนวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

     พ.ศ. ๒๓๒๕ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชาคณะที่พระวินัยรักขิต ซึ่งเทียบเท่าพระอุบาลีแต่เดิม ที่ต้องเปลี่ยนเพราะเห็นว่าสมณศักดิ์นี้ไปพ้องกับพระอุบาลี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๓๗ ก็ทรงได้รับพระกรุณาธิคุณเลื่อสมณศักดิ์ให้สูงขึ้นในระดับพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระพิมลธรรม พ.ศ. ๒๓๕๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพนรัตน

     ในปี พ.ศ. ๒๓๖๐ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สามเณรเจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จไปทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุเป็นเวลา ๑ พรรษา ตลอดเวลาที่ได้ประทับจำพรรษา สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงทำหน้าที่พระอาจารย์ ถวายความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัย พระไตรปิฎกตลอดจนทศพิธราชธรรม

     ในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นพระธุระในการพัฒนาการศึกษา ดูและแก้วิธีการสอน การสอบไล่พระปริยัติธรรมทุกครั้งอย่างใกล้ชิด ได้ทอดพระเนตรเห็นข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอยู่ตลอด โดยมิได้ถือพระองค์ว่าทรงเป็นสังฆราชา จนในที่สุดได้ทรงปรึกษาหารือกับพระราชาคณะที่ เป็นเปรียญเอกอีกนับสิบรูป จนเห็นชอบทั่วหน้าในการปรับปรุงแก้ไขวิธีการสอน การสอบไล่ปริยัติธรรมใหม่ ได้ทรงกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน และการสอบเทียบความรู้ใหม่ ให้มี ๙ ประโยค แทนหลักสูตรเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมีการแบ่งหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมเพียง ๓ ชั้น คือ บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอก

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๓๕๙ - ๒๓๖๒  เป็น สมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. ๒๓๕๙ - ๒๓๖๒  เป็น เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนาม สมเด็จพระอริยวงษญาณ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ ปีชวดอัฐศก จ.ศ. ๑๑๗๘ ตรงกับวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๕๙ นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วโปรดให้แห่จากพระอารามเดิม คือวัดราชบูรณ มาสถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พ.ศ. ๒๓๖๐ สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้ถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงกระทำวิสาขบูชา อันเป็นพิธีบูชาสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีผลอานิสงส์มากยิ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพิธีวิสาขบูชา เป็นพิธีสำคัญประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ และได้กระทำต่อเนื่องสืบมาจนถึงทุกวันนี้

     เฉลิมพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ ปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมปรินายก ติปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤกษษรทักษิณา สฤทธิสังฆคามวาสี อรัญวาสี เปนประธานถานาทุกคณะนิกร จัตุพิธบรรพสัช สถิตย์ในพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร พระอารามหลวง

พระอวสานกาล


     สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๒ สิริพระชันษาได้ ๖๙ ปี ๒ เดือน ๑๐ วัน ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลา ๓ ปี ๓ เดือน ๒๐ วัน

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็น พระราชาคณะ ที่ พระวินัยรักขิต
พ.ศ. ๒๓๓๗ เป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพิมลธรรม
พ.ศ. ๒๓๕๖ เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพนรัตน
๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๕๙ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ ปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมปรินายก ติปิฏกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤกษษรทักษิณา สฤทธิสังฆคามวาสี อรัญวาสี เปนประธานถานาทุกคณะนิกร จัตุพิธบรรพสัช

ที่มา


ทำเนียบพระราชาคณะชาติภูมิกรุงเทพมหานคร
winnews.tv


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook