พระมงคลเทพโมลี วิ. (สุพจน์ โชติปาโล) | พระสังฆาธิการ

พระมงคลเทพโมลี วิ. (สุพจน์ โชติปาโล)


 
เกิด ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑
อายุ ๘๐ ปี
อุปสมบท ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒
พรรษา ๕๙
มรณภาพ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
วัด วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 3,829

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระมงคลเทพโมลี วิ. มีนามเดิมว่า โพธิ์ สมนึกแท่น เกิดเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ณ บ้านเลขที่ ๑๒ หมู่ ๘ แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร โยมบิดาชื่อนายปลื้ม โยมมารดาชื่อนางแช่ม

     ตั้งแต่เยาว์วัยได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากโยมบิดามารดาด้วยความรักและอบอุ่น ตามสมควรแก่ฐานะจนถึงวัยอันสมควรจึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนวัดแสนเกษมซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านที่สุด โดยสภาพท้องถิ่นเป็นที่ราบลุ่มเป็นท้องทุ่งกว้างขวางมองโล่งสุดสายตาดินเหนียวสีดำ หน้าฝนจะปกคลุมด้วยหญ้าป่ากก และต้นข้าวสีเขียวขจี ให้ความรู้สึกสดชื่น เนื้อดินจะอ่อนนุ่ม ถ้ามีน้ำขังก็จะเป็นโคลนเลน การเดินทางไปมาหาสู่กันในหน้าฝนจะต้องเดินบนคันนา หรือใช้เรือแจวเรือพายเท่านั้นเดินลัดทุ่งนาไม่ได้แต่ในหน้าแล้งดินจะแห้ง แข็ง และแตกระแหง

     ด้วยเหตุนี้ พ่อจึงขอฝาก เด็กชายโพธิ์ ไว้กับหลวงปู่เปรม เจ้าอาวาสวัดแสนเกษม ให้อยู่เป็นเด็กวัด รับใช้หลวงปู่และเรียนหนังสือไทยในโรงเรียนวัด เพื่อตัดปัญหาในการเดินทาง ครอบครัว พ่อแม่ก็มาทำบุญที่วัดเป็นประจำได้รับรู้ความเป็นอยู่ตลอดเวลา ตัดปัญหาเรื่องความห่วงหากังวลใจด้วยความรักลงได้

     การอยู่กับพระผู้ใหญ่มีผู้คนหลายระดับชนชั้นมาเคารพกราบไหว้ท่านเสมอ ถือเป็นโชคดีที่มีโอกาสจะได้เติบโตมาพร้อมกับการซึมซับเอาสิ่งดีงามจากผู้คนเหล่านั้นมาเป็นแม่แบบหล่อหลอมชีวิตของตน

     เมื่อเรียนหนังสือจบชั้นประถมบริบูรณ์ (ประถมปีที่ ๔) ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด ก็กลับมาอยู่ที่บ้านด้วยหวังจะช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพ และเป็นการฝึกงานเตรียมตัวเป็นเกษตรกรสืบต่อไป เมื่อเติบใหญ่ไปในภายภาคหน้า

     เพียงปีแรก ที่กลับมาช่วยพ่อในอาชีพเกษตรกร ก็พบได้ด้วยตัวเองว่าเห็นท่าจะเอาดีทางนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีความชอบ (ฉันทะ) จึงขาดความขยันหมั่นเพียร (วิริยะ) ทำไปตามหน้าที่ ไม่มีความบากบั่น (จิตตะ) แม้จะต้องทำงานจนเสร็จก็ไม่ติดตามว่าผลเป็นเช่นไร (วิมังสา) แม้พ่อปลื้มเองในฐานะครู ก็มองออกว่า ลูก (ศิษย์) คนนี้คงเอาดีทางนี้ไม่ได้จึงมองหาลู่ทางที่เหมาะสมสำหรับลูกชายคนเดียวของตนต่อไป

     พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุได้ ๑๔ ปี พ่อปลื้มจึงนำลูกชายกลับเข้าวัดอีกครั้งได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมี พระครูมนูญสีลขันธ์ วัดหนองจอก เป็นพระอุปัชฌาย์ และอยู่ที่วัดแสนเกษมกับหลวงปู่เปรมอีกครั้ง แต่คราวนี้หลวงปู่เปรมมีอายุมากแล้ว อายุกว่า ๙๐ ปี (หลวงพ่อเล่าให้ฟัง) หลวงปู่ช่วยตัวเองได้น้อยก็ต้องปรนนิบัติท่าน (คงรวมถึงการสรงน้ำป้อนข้าวด้วยบางครั้ง) เพียง ๒ พรรษา หลวงปู่ก็สิ้น (ละสังขาร) และในช่วง ๒ พรรษา สามเณรโพธิ์ ก็สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท ตามลำดับหลวงปู่เปรม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์มีความขลังในหลายด้าน เช่นปลุกเสกปรอท ตะกรุดและน้ำมนต์ ได้เป็นที่พึ่งพิงช่วยขจัดทุกข์ร้อนของผู้ที่เคารพนับถือตลอดอายุของท่านในช่วงเวลาดังกล่าว สงครามมหาเอเชียบูรพายังไม่สงบมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯโดยเฉพาะแถวโรงไฟฟ้าวัดเลียบ,สะพานพระพุทธยอดฟ้าและสำเพ็ง ผู้คนคอยฟังสัญญาณเตือนภัยและเสียงเครื่องบินจะได้วิ่งเข้าที่หลบภัยทัน เศรษฐกิจย่ำแย่ ไม้ขีดไฟหนึ่งก้านต้องผ่าครึ่งจะได้ใช้ ถึง ๒ ครั้งเพราะหาซื้อยากของขาดตลาด (คำบอกเล่าหลวงปู่ศุข)

     ในเวลานั้นพระครูวินัยธรทองศุข สิริวัฑฒโน (เงินมา) ที่รู้จักกันต่อมา คือ หลวงปู่ศุข ท่านจำอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม เห็นว่าวัดอยู่ในย่านอันตรายท่านจึงออกไปจำพรรษาที่วัดแสนเกษม แถวหนองจอกเพราะยังมีความปลอดภัย ด้วยห่างจากเขตสู้รบท่านจำอยู่ที่วัดแสนเกษมจนญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามสงบปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สงครามสงบแล้วหลวงปู่ศุขจึงย้ายกลับวัดสุทัศน์ฯและได้ให้สามเณรโพธิ์ติดตามมาด้วย คงเป็นเพราะมองเห็นแววและความใฝ่ใจในการศึกษาเล่าเรียนพอที่จะปลูกฝังให้เป็นศาสนทายาทและเป็นกำลังสำคัญในการธำรงพระศาสนาสืบไปในอนาคตได้นำสามเณรมาฝากไว้ในสังกัดวัดสุทัศนเทพวรารามกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น (คำบอกเล่าหลวงปู่ไสว)

     ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ สามเณรโพธิ์ ก็สอบได้นักธรรมชั้นเอก ในสำนักเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม (เวลานี้ท่านได้เปลี่ยนชื่อเป็นสุพจน์และนามสกุลเป็น ชูติรัตน์)


อุปสมบท

     อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนเทพวราราม โดยมี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (โฉม ฉนฺโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศรีสมโพธิ (เสงี่ยม จันทสิริ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์ ยตินธโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า โชติปาโล

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๙๘  เป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
พ.ศ. ๒๕๐๔  เป็น พระวินยาธิการ
พ.ศ. ๒๕๑๘  เป็น หัวหน้าสงฆ์วัดไทยลอสแองเจลีส
พ.ศ. ๒๕๒๑  เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดมงคลรัตนาราม เมืองซานฟรานซิสโก
พ.ศ. ๒๕๒๔  เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดมงคลรัตนาราม เมืองแทมป้า
พ.ศ. ๒๕๒๕  เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดพระศรีรัตนาราม เมืองเซ็นต์หลุยส์
พ.ศ. ๒๕๒๙  เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดพุทธจักรมงคลรัตนาราม เมืองฮาวาย
พ.ศ. ๒๕๓๐  เป็น พระอุปัชฌาย์วิสามัญ
พ.ศ. ๒๕๓๓  เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดมงคลรัตนาราม เมืองซานดิเอโก
พ.ศ. ๒๕๓๙  เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดมงคลรัตนาราม เมืองฟอร์ตวอลตันบีช

มรณกาล


     พระมงคลเทพโมลี (สุพจน์ โชติปาโล) มรณภาพเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี พรรษา ๕๙

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็น พระปลัด ฐานานุกรมใน พระพุทธิญาณมุนี (พุฒ)
พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็น พระครูปลัด ฐานานุกรมใน พระราชพุทธิญาณมุนี
พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูพุทธมนต์วราจารย์
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระพุทธมนต์วราจารย์ [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระมงคลราชมุนี ศรีสิทธิมันตาภรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระมงคลเทพโมลี ศรีศุภกิจวิธาน มงคลสารวรประสิทธิ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๔, ตอนที่ ๑๒๘ ง, ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๐, หน้า ๔
2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๒, ตอนที่ ๒๖๓ ง, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘, หน้า ๓
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๔, ตอนที่ ๒๕๓ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐, หน้า ๔
ทำเนียบพระราชาคณะชาติภูมิกรุงเทพมหานคร


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook