พระราชพรหมยาน วิ. (วีระ ถาวโร ป.ธ.๔) | พระสังฆาธิการ

พระราชพรหมยาน วิ. (วีระ ถาวโร ป.ธ.๔)


 
เกิด ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙
อายุ ๗๖ ปี
อุปสมบท ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
พรรษา ๕๖
มรณภาพ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
วัด วัดจันทาราม
ท้องที่ อุทัยธานี
สังกัด มหานิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๔


VIEW : 1,039

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระราชพรหมยาน วิ. เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ที่ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ในครอบครัวของชาวนาซึ่งมีฐานะค่อนข้างดี บิดาชื่อ นายควง สังข์สุวรรณ มารดาชื่อนางสมบุญ สังข์สุวรรณ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ จากพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน ๕ คน

     ก่อนที่พระราชพรหมยานจะเกิดนั้น มารดาของท่านฝันว่า เห็นพระพรหมมีสีเหลืองเป็นทองคำเหมือนพระพุทธรูป นอนลอยไปในอากาศ มีเพชรประดับแพรวพราวทั้งตัว เข้าทางหัวจั่วด้านทิศเหนือ เข้ามานั่งที่ตักท่าน มารดาก็กอดไว้ แล้วก็หายเข้าไปในกาย เมื่อเกิดมาใหม่ ๆ หลวงพ่อเล็ก เกสโร ซึ่งมีฐานะเป็นลุง ได้กล่าวว่า เจ้าเด็กคนนี้มาจากพรหม ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า "พรหม" และต่อมาภายหลัง คนที่จดสำมะโนครัวเขามาเปลี่ยนชื่อให้เป็น "สังเวียน" ท่านยายกับชาวบ้านเรียกว่า "เล็ก" ส่วนท่านมารดาและพี่ ๆ น้องๆ เรียกว่า "พ่อกลาง"

     พ.ศ. ๒๔๖๖ อายุ ๗ ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นประถมปีที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๗๔ อายุ ๑๕ ปี อาศัยกับท่านยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี ได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุ ๑๙ ปี เข้าทำงานเป็นเภสัชกรทหาร สังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า)


อุปสมบท

     อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ พัทธสีมาวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี พระครูรัตนาภิรมย์ (อยู่ ติสฺโส) เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) เจ้าอาวาสวัดบางนมโค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค เป็นพระอนุสาวนาจารย์

     คำสั่งพระอุปัชฌาย์ ขณะเข้าบวช หลวงพ่อปาน ท่านบอกท่านอุปัชฌาย์ว่า เจ้านี่หัวแข็งมาก ต้องเสกด้วยตะพดหนักหน่อย ท่านอุปัชฌาย์ท่านเป็นพระทรงธรรมเหมือนหลวงพ่อ (ปาน) หลวงพ่อเล็กก็เหมือนกัน ท่านอุปัชฌาย์ท่านยิ้มแล้วท่านพูดว่า "๓ องค์นี้ไม่สึก อีกองค์ต้องสึกเพราะมีลูก เมื่อจะสึกไม่ต้องเสียดายนะลูก เกษียณแล้วบวชใหม่มีผลสมบูรณ์เหมือนกัน ๒ องค์นี้พอครบ ๑๐ พรรษาต้องเข้าป่า เมื่อเข้าป่าแล้วห้ามออกมายุ่งกับชาวบ้านจนกว่าจะตาย จะพาพระและชาวบ้านที่อวดรู้ตกนรก จงไปตามทางของเธอ ท่านปานช่วยสอนวิชาเข้าป่าให้หนักหน่อย ท่านองค์นี้ (หมายถึงฉัน) จงเข้าป่าไปกับเขา แต่ห้ามอยู่ในป่าเป็นวัตร เพราะเธอมีบริวารมาก ต้องอยู่สอนบริวารจนตาย พอครบ ๒๐ พรรษาจงออกจากสำนักเดิม เธอจะได้ดี จงไปตามทางของเธอ ฉันบวชพระมามากแล้วไม่อิ่มใจเท่าบวชพวกเธอ"


การแสวงหาและการปฏิบัติธรรม

     ระหว่างพรรษาที่ ๑ - ๔
     - เรียนอภิญญา
     - ธุดงค์ป่าช้า, ป่าศรีประจันต์, พระพุทธบาท, พระพุทธฉาย, เขาวงพระจันทร์ , เขาชอนเดื่อ, ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, ดงพระยาเย็น, ภูกระดึง, พระแท่นดงรัง ฯลฯ
     - ศึกษาวิปัสสนา
     ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๓ ได้ศึกษาพระกัมมัฏฐาน จากครูบาอาจารย์หลายท่าน เช่น พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) เจ้าอาวาสวัดบางนมโค หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก, พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค พระครูรัตนาภิรมย์ (อยู่ ติสฺโส) เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) และหลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ
     พ.ศ. ๒๔๘๓ อายุ ๒๔ ปี เข้ามาจำพรรษาที่วัดช่างเหล็ก อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี เพื่อเรียนบาลี จากนั้นย้ายมาอยู่ที่วัดอนงคารามในช่วงออกพรรษาในสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) อยู่วัดช่างเหล็กในช่วงเข้าพรรษา ระหว่างนี้ได้ศึกษาเพิ่มเติมกรรมฐานกับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และพบพระสุปฏิปันโนอีกมาก เช่น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) เป็นต้น


การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๘๐ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. ๒๔๘๑ สอบได้ นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๘๒ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๘๖ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๘ สอบได้ เปรียญธรรม ๔ ประโยค

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๙๔ - ๒๕๐๒  เป็น เจ้าอาวาสวัดบางนมโค
 เจ้าอาวาสวัดใหม่จันทาราม (ท่าซุง)

สมณศักดิ์


๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสุธรรมยานเถร [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๒, ตอนที่ ๑๗ ง, ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ , หน้า ๔
2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๖, ตอนที่ ๒๑๗ ง, ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒, หน้า ๔
ทำเนียบพระราชาคณะชาติภูมิสุพรรณบุรี


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook