สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ ป.ธ.๘) | พระสังฆาธิการ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ ป.ธ.๘)


 
เกิด ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๖
อายุ ๘๖ ปี
อุปสมบท ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖
พรรษา ๖๖
มรณภาพ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒
วัด วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด มหานิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๘


VIEW : 3,524

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิมว่า คำตา ดวงมาลา เป็นบุตรคนโตของนายพิมพ์ และนางแจ้ ดวงมาลา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๖ แรม ๔ ค่ำเดือน ๑๒ ณ บ้านโต้น ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น ๔ คนท่านเป็นบุตรคนโต น้องอีกสามคนคือ นางบี้ นายเพิ่ม และนางเอื้อ ตามลำดับ เมื่อย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุฯ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจ้าอาวาสขณะนั้น) ได้เปลี่ยนชื่อท่านจาก คำตา เป็น อาจ เพื่อให้เหมาะกับบุคลิก องอาจ แกล้วกล้า ของท่าน


บรรพชาอุปสมบท

     เมื่ออายุ ๑๔ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น โดยมี อาจารย์พระหน่อ วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาท่านย้ายมาอยู่กรุงเทพฯเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

     อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีสมโพธิ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า อาสโภ


การศึกษา

ท่านได้ศึกษาอักษรลาวตั้งแต่บวชเป็นเณรที่ขอนแก่น
พ.ศ. ๒๔๖๑ สอบได้ วิชาครู เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนขอนแก่นวิทยาคาร (ปัจจุบันคือโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน)
พ.ศ. ๒๔๖๔ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. ๒๔๖๕ สอบได้ นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๗ สอบได้ เปรียญธรรม ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๘ สอบได้ เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๙ สอบได้ เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๑ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๗๑ สอบได้ เปรียญธรรม ๗ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๒ สอบได้ เปรียญธรรม ๘ ประโยค

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น รองเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น รองเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น พระอุปัชฌาย์วิสามัญ
พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น พระคณาจารย์โทในทางคันถธุระ
พ.ศ. ๒๔๗๗  เป็น เจ้าคณะตำบลสำเภาล่ม
พ.ศ. ๒๔๗๘  เป็น เจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๔๗๘  เป็น เจ้าคณะแขวงบางปะหัน
พ.ศ. ๒๔๘๒  เป็น รองเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
พ.ศ. ๒๔๘๔  เป็น พระคณาจารย์เอกในทางคันถธุระ
พ.ศ. ๒๔๘๔  เป็น สมาชิกสังฆสภา
พ.ศ. ๒๔๘๖  เป็น เจ้าคณะตรวจการภาค ๔ ซึ่งเป็นพระคณาธิการองค์แรกในตำแหน่งนี้
พ.ศ. ๒๔๘๘  เป็น สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา
พ.ศ. ๒๔๘๘  เป็น เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. ๒๔๘๙  เป็น สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา
พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๕๐๓  เป็น เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร สมัยที่ ๑
พ.ศ. ๒๔๙๓  เป็น สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็น สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง สมัยที่ ๒
พ.ศ. ๒๔๙๘  เป็น สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง สมัยที่ ๓
พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๓๒  เป็น เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
พ.ศ. ๒๕๒๘  เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่ง
พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒  เป็น ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒  เป็น เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก

ฝ่ายการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๘๘  เป็น แม่กองธรรมสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๙๐  เป็น ทุติยสภานายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

เกียรติคุณ

  • พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นอัครมหาบัณฑิตโดยรัฐบาลพม่าได้ถวายเกียรติคุณครั้งนี้ในโอกาสที่เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปร่วมงานอัฏฐสังคายนา ที่ประเทศพม่า นับเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้รับฐานันดรศักดิ์นี้
  • พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นผู้ริเริ่มในการสร้างอาคารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยได้รับเงินจากศาสนสมบัติกลาง เป็นทุนเริ่มแรก และเงินงบประมาณแผ่นดิน กับเงินบริจาคจากสาธุชนทั่วไป
  • พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นผู้ริเริ่มการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ "มหาจุฬาเตปิฎกํ" เพื่อสนองพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเกล้าฯ ให้พระภิกษุสามเณรได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก
  • พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามานุษยสงเคราะห์ศาสตร์ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย
  • พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นสังฆปาโมกข์ ฝ่ายพระอภิธรรมปิฎก ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐

การต้องอธิกรณ์

     ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อครั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมนั้น ท่านได้ถูกกล่าวหาว่าเสพเมถุนทางเวจมรรคกับลูกศิษย์ และมีข่าวว่าพระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) อยู่กับสีกาสองต่อสองในที่ลับหูลับตาหลายครั้ง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) จึงมีพระบัญชาให้ทั้งสองรูปพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาส แต่ทั้งสองรูปปฏิเสธ โดยตั้งใจจะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน คณะสังฆมนตรีของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) จึงมีมติว่าทั้งสองรูปฝ่าฝืนพระบัญชา ไม่ควรอยู่ในสมณศักดิ์ต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ถอดทั้งสองรูปออกจากสมณศักดิ์ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๓

     ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๕ พระมหาอาจได้ถูกทางการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกบังคับสึกเป็นฆราวาส และจำคุกอยู่ที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลอยู่หลายปี จนกระทั่งศาลทหารสามารถพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความเท็จ และตัดสินยกฟ้องเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระเถระทั้งสองรูปคืนสู่สมณศักดิ์เดิมตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ คดีดังกล่าวนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทย ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้แก่ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

มรณภาพ


     สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) อาพาธ และได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบด้วยภาวะหัวใจวาย เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๑๑.๑๕ น. ณ โรงพยาบาลสยาม กรุงเทพมหานคร สิริชนมายุได้ ๘๖ ปี ๑ เดือน พรรษา ๖๖

     ในการนี้ ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นเวลา ๑๐๐ วัน ครบเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยมีคณะเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายทุกคืนทุกวัน บางวันมีคณะเจ้าภาพหลายคณะร่วมบำเพ็ญกุศล และตลอดมาจนถึงวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดออกเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

สมณศักดิ์


๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีสุธรรมมุนี
พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม
๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเวที ตรีปิฎกคุณสุนทรธรรมภูษิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี
๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ปรีชาญาณดิลก ตรีปิฎกคุณาลงกรณ์ ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพิมลธรรม มหันตคุณ วิบุลปรีชาญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูษิต ยติกิจสาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. ๒๕๐๓ ถูกถอดจากสมณศักดิ์
๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์คืน [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมถวิปัสสนาญาณปรีชา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี

วิปัสสนากรรมฐานแบบยุบหนอ-พองหนอ

     ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ได้ส่งพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) ขณะเป็นพระมหาโชดกไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานสายของมหาสีสย่าด่อที่สำนักศาสนยิสสา ประเทศพม่า เป็นเวลา ๑ ปี แล้วนำกลับมาสอน พร้อมทั้งพระพม่าสองรูป คือพระภัททันตะ อาสภเถระ ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ และพระอินทวังสเถระ กัมมัฏฐานาจริยะ โดยเปิดสอนครั้งแรกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ จากนั้นจึงขยายไปเปิดสอนที่สาขาอื่นทั่วราชอาณาจักร มีการตั้งกองการวิปัสสนาธุระที่วัดมหาธาตุฯ ต่อมาถูกยกสถานะเป็นสถาบันวิปัสสนาธุระ สังกัดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และได้เผยแพร่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบยุบหนอ-พองหนอจนแพร่หลายดังปัจจุบัน


ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสมณศักดิ์กลับคืน, เล่ม ๙๒, ตอนที่ ๑๐๖ ง, ๖ มิถุนายน ๒๕๑๘, หน้า ๑๓
ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคอิสาณ
wikipedia.org


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook