พระรามัญมุนี (สุด ญาณรํสี ป.ธ.๓ รามัญ) | พระสังฆาธิการ

พระรามัญมุนี (สุด ญาณรํสี ป.ธ.๓ รามัญ)


 
มรณภาพ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓
วัด วัดบางหลวง
ท้องที่ ปทุมธานี


VIEW : 1,869

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระรามัญมุนี ประวัติส่วนตัวของท่าน ว่าท่านเกิดเมื่อใด เป็นบุตรของใครไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่ทราบว่าพื้นเพท่านเป็นชาวมอญธนบุรี แถววัดลิงขบ(วัดบวรมงคล) ท่านมีความรู้ในการอ่านเขียนหนังสือไทยและหนังสือมอญได้เป็นอย่างดี


อุปสมบท

     เมื่ออายุครบเกณฑ์บวช ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาของวัดบวรมงคล จังหวัดธนบุรี(เรียกชื่อตามสมัยนั้น) โดยมี พระอริยธัช(สัน) วัดบวรมงคล เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้ฉายาทางธรรมว่า “ญาณรํสี

     เมื่อท่านบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดถึงพระปริยัติธรรมบาลีรามัญ อยู่ที่สำนักวัดบวรมงคลจนแตกฉาน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ท่านได้รับแต่งให้เป็น “พระปลัด” ฐานานุกรมของ พระธรรมวิสารทะ(จู สิงโฆ) เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล ในสมัยนั้น(ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส และได้เป็นพระราชาคณะ ที่ พระคุณวงศ์” และในปีเดียวกันท่านได้เข้าสอบเปรียญธรรมบาลี กระทั่งสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๒ ประโยครามัญ(เทียบเท่า ๓ ประโยคไทย) ต่อมาท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดบ่อฝ้าย(วัดฉิมพลีสุทธาวาส) เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรี ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรมจากสำนักวัดบ่อฝ้าย จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ท่านได้เข้าสอบเปรียญธรรมบาลี และสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยครามัญ(เทียบเท่า ๔ ประโยคไทย) ต่อมาท่านก็ได้รับพระราชทานพัดยศเป็น “พระมหา” เป็นพระฐานาทรงเครื่อง ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ่อฝ้าย มาตามลำดับ จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๔ พระอาจารย์ชันเออ ผู้ปกครองรักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงไหว้พระ แขวงเมืองปทุมธานี ในขณะนั้น ได้ถึงกาลมรณภาพ ท่านเจ้าคุณฯ พระสาสนโสภณ(อ่อน อหึสโก) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระนคร ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลกรุงเทพฯ จึงได้ส่งหนังสือเสนอชื่อ พระมหาสุด ญาณรังสี ป.ธ.๓ รามัญ วัดบ่อฝ้าย ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบางหลวงไหว้พระ สืบแทน กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางหลวงไหว้พระ เมืองประทุมธานี และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะฝ่ายรามัญ ที่ “พระรามัญมุนี”

     ซึ่งจากบันทึกจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) เมื่อวันที่ ๑ มกราคม จุลศักราช ๑๒๖๔ ถึง วันที่ ๓๑ ธันวาคม จุลศักราช ๑๒๖๕ พุทธศักราช ๒๔๔๕ ถึง ๒๔๔๗ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ ปีขาล ๑๒๒ ปีเถาะ ๑๒๓ ปีมะโรง ในหน้าที่ ๗ บรรทัดที่ ๙ ว่า...

     “วันที่ ๘ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ พุทธศักราช ๒๔๔๕ บ่ายเสด็จพระราชทานเพลิง แล้วเสด็จประทับแรมสวนดุสิต แลแห่ พระรามัญมุนี ไปอยู่วัดบางหลวง ในเมืองประทุมธานี”

     และอีกตอนหนึ่งว่า...

     “วันที่ ๑๑ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ พุทธศักราช ๒๔๔๕ ประทับแรมสวนดุสิต แลถวายเครื่องบริขารขึ้นกุฎีแก่พระรามัญมุนี”

     พระรามัญมุนี(สุด ญาณรังสี) ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางหลวงไหว้พระ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบางหลวงนั้น วัดบางหลวงยังไม่ค่อยเจริญมากนัก กุฏิสงฆ์หลังคา ฝา มุงด้วยจาก พอเป็นที่อยู่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณรได้ ในยุคของท่าน จึงมีการซ่อมแซมบ้างไปตามสภาพ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองประทุมธานี แต่เดิมวัดบางหลวง นี้ เป็นสำนักศึกษาบาลีมาแต่ครั้งโบราณ ท่านจึงสร้างศาลา หลังคามุงด้วยจาก พื่อเปิดสอนเรียนพระปริยัติธรรมบาลีขึ้น โดยท่านรับหน้าที่เป็นครูผู้สอนด้วยตัวของท่านเอง ท่านได้อบรมสั่งสอนเตวาสิกสัทธิวิหาริกในการปกครองของท่านเป็นอย่างดี ท่านเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายรามัญที่พระสงฆ์และชาวบ้าน ตลอดถึงพระมหากษัติย์แห่งสยามให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ท่านได้อาพาธหนัก กระทั่งเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ท่านได้ละสังขารอย่างสงบในระหว่างพรรษา ภายในกุฏิของท่านเอง ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางหลวง ได้ประมาณ ๗ ปีเศษ คณะสงฆ์และชาวบ้านจึงได้ช่วยกันจัดการพิธีศพให้ท่านอย่างสมเกียรติ

     เมื่อ พระรามัญมุนี (สุด ญาณรังสี) ได้ถึงกาลมรณภาพลงในระหว่างพรรษานั้น ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางหลวงจึงได้ว่างลง กระทั่งถึงออกพรรษาและปวารณาแล้ว ครั้นถึงงานทอดกฐิน พระเทพกวี เจ้าคณะเมืองนนทบุรี สามโคก วัดราชาธิวาส พระนคร จึงแต่งตั้งให้ พระมหามะลิ ปัณฑิโต เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบางหลวง(ต่อมาท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางหลวง และได้เป็นพระราชาคณะ ที่ พระรามัญมุนี) ได้กระทำหน้าที่รับและครองผ้ากฐินแทน เนื่องจากในยุคนั้น วัดบางหลวง นี้ได้รับพระราชทานกฐินหลวงอยู่เสมอทุกปี


การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๓๓ สอบได้ เปรียญธรรม ๒ ประโยครามัญ (เทียบเท่า ๓ ประโยคไทย)
พ.ศ. ๒๔๔๑ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยครามัญ (เทียบเท่า ๔ ประโยคไทย)

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๔๕  เป็น เจ้าอาวาสวัดบางหลวง
พ.ศ. ๒๔๔๙  เป็น เจ้าคณะเมืองประทุมธานี (เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี)

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๓๓ เป็น พระปลัด
๘ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๑ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๕) เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระรามัญมุนี

ที่มา


ทำเนียบพระราชาคณะชาติภูมิกรุงเทพมหานคร
กลุ่ม พระเถราจารย์รามัญวงศ์ พระเครื่องวงศ์รามัญ


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook