พระครูจันทรสาราภิรัต (จันทร์) | พระสังฆาธิการ

พระครูจันทรสาราภิรัต (จันทร์)


 
เกิด ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๐
มรณภาพ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕
วัด วัดแหลมวัง
ท้องที่ สงขลา
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 1,386

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระครูจันทรสาราภิรัต มีนามเดิมว่า จันทร์ มุสิกพงษ์ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๐ ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู ที่บ้านแหลมวัง หมู่ที่ ๑ ตำบลคูขุด อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา มารดาชื่อ นางสุ้น มุสิกพงษ์ และ บิดาชื่อ นาย หนูเลี่ยม มุสิกพงษ์

     ท่านได้เป็นศิษย์ เรียนหนังสือชั้นต้นกับพระดำ วัดคูขุด บวชเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๕ ปี อยู่ที่วัดแหลมวัง ได้รับญัตติอุปสมบทกรรมเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ ๒๓ ปี ท่านพระครูวิจารณ์ศีลคุณ (หรือรู้จักกันในนามพ่อท่านชู ท่านบวชตั้งแต่เป็นเณรอยู่วัดดอนคันตะวันออก นอกจากท่านเคร่งพระวินัยแล้วยังมีความรอบรู้ ในด้านจิตรกรรม ดนตรีฝีมือชั้นครู ปราชญ์ ทางด้านกลอน โคลง ฉันท์ กาพย์ ปั้นและแกะสลัก ทำภาพหนังตะลุง ) เจ้าคณะอำเภอจะทิ้งพระ วัดจะทิ้งพระ เป็นพระอุปัชฌายะ พระสมุห์นุ่ม และพระยก วัดจะทิ้งพระ ทั้ง ๒ องค์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์

     อุปสมบทอยู่ที่วัดแหลมวัง ๗ พรรษา ในพรรษาที่ ๘ ได้เข้าไปศึกษาพระปริยัติธรรม และภาษาบาลี ในสำนักเรียนวัดพลับ กับพระอาจารย์วัน แต่ได้อาศัยอยู่ที่วัดหงษ์รัตนาราม จังหวัดธนบุรี อยู่ได้เพียง ๓ พรรษา ก็ต้องกลับ เพราะเกิดเหตุจำเป็นขึ้นทางบ้าน แล้วก็ไม่ได้โอกาสกลับเข้าไปเรียนอีก เพราะได้รับตำแหน่งหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดแหลมวัง และเป็นพระปลัด ฐานานุกรมของท่านพระครูวิจารณ์ศีลคุณ

     ท่านได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งเจ้าคณะตำบล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ และเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่พระครูจันทรสาราภิรัต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕. การบากบั่นเข้าไปศึกษาในกรุงเทพฯของท่าน สำหรับสมัยนั้น ไม่ใช่เป็นของง่ายเลยย่อมเป็นเหมือนความฝันทีเดียว แต่ด้วยความรักการก้าวหน้า เพื่อให้ทันสมัย และเพื่อนฝูงท่านก็มีความรู้เป็นเกียรติประดับตัว ที่ควรภาคภูมิใจได้เหมือนกัน การสร้างวัดแหลมวัง จากสภาพเดิมที่คล้ายโคก-โรงวัว ให้มีกุฏิ-โรงครัว-ศาลาโรงธรรมและ-พระอุโบสถขึ้นซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมาจนเป็นคนละสภาพย่อมได้รับการรับรองในความสามารถของท่านเป็นอย่างดี

     ท่านมีนิสัยชอบพึ่งตัวเอง ทำงานเอง รักการทำงานที่ก้าวหน้าในด้านการก่อสร้าง มีฝีมือในการจักสาน และประดิษฐ์-คิดทำเครื่องใช้ได้เกือบทุกชนิด เป็นช่างไม้-ช่างปูน-ช่างปั้น-ช่างแกะสลัก-ฉลุ-เขียนลวดลายวิจิตรต่างๆ ออกความคิดในการทำอิฐ-เผาอิฐ

     วัดแหลมวัง เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในทางฝีมือช่างมานาน ประชาชนชอบให้ลูกหลานไปบวช เพื่อจะได้เรียน-ฝึกหัดวิชา ปลูกเรือน ขุด-ต่อเรือ และวิชาอื่นๆ ในการประดิษฐ์เครื่องใช้นี้ เป็นที่น่าสังเกตอยู่บ้าง พ่อท่านคิดประดิษฐ์-ทำของใช้ได้หลายอย่าง เช่น จากลา-แมงดา ตรอง (กะชอน) เป็นต้น ซึ่งทำได้ด้วยความประณีต-สวยงามยิ่ง

     พ่อท่าน ได้จัดสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นในวัดหลังหนึ่ง-ใหญ่มาก มอบให้เป็นสถานการศึกษาของกุลบุตร และกุลธิดาแก่ทางการ ได้จัดสร้างสะพานข้ามคลองแหลมวัง เสาคอนกรีต ปูพื้นกระดานไม้เคี่ยม ซึ่งเป็นสะพานแห่งแรกสำหรับท้องที่-ที่สร้างขึ้นอย่างมั่นคงแข็งแรง-ให้วัวควายเดินข้ามได้

     เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นี้เอง ทางราชการได้ขอร้อง-มอบหมายเงินบำรุงท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง ให้ท่านช่วยสร้างสะพานข้ามคลองบ้านพรวน ซึ่งเงินมีอยู่จำนวนน้อย ไม่พอสร้าง และหาคนสามารถควบคุมงานก่อสร้างให้สำเร็จได้ยาก แต่ท่านก็ได้สร้างสำเร็จไปแล้ว ท่านได้จัดการขุดสระน้ำใหญ่ขึ้นสระหนึ่ง ขังน้ำได้มาก ประชาชนได้ใช้กิน-ใช้อาบและ-เลี้ยงสัตว์พาหนะอย่างสะดวกสบาย เพราะท้องถิ่นนั้นกันดารน้ำ จึงเป็นที่ยินดีของประชาชนอย่างยิ่ง

     ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ จนกระทั่งถึงมรณะภาพเป็นเวลาถึง ๒๘ ปี จึงมีศิษย์อยู่มากโดยทั่วไป ในเขตตำบลอันเป็นเขตปกครองของท่านได้เปิดสำนักเรียนสอบนักธรรมขึ้นถึง ๓ สำนัก ท่านได้สนใจ และเอาใจใส่ในการศึกษาของศิษย์อย่างดียิ่ง ได้จัดส่งศิษย์ไปศึกษาวิชาสามัญ-ชั้นสูงตามโรงเรียนรัฐบาลก็มาก ไปศึกษานักธรรม และภาษาบาลี จนสำเร็จเป็นเปรียญ และนักธรรมชั้นสูงในสำนักต่างๆก็มีไม่น้อย ย่อมแสดงถึงการปลูก-ฝังศิษย์ ด้วยการสงเคราะห์-อนุเคราะห์เกี่ยวกับอนาคตของชีวิต ให้เจริญก้าวหน้าในทางโลก และทางธรรมวินัยเป็นอย่างดี

     ภาระหนักที่ท่านแบกอยู่ ทั้งเวลาอาพาธ และก่อนมรณะภาพ คือ การสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ และท่านได้ตั้งใจจะสร้างอย่างไว้ฝีมือจริงๆ ท่านเกิดมาเพื่องาน และมรณะภาพลงไป-ในขณะดำเนินงาน ทำงานจนสิ้นลมหายใจ ดัดเหล็กเองจนหมดกำลังจะดัด และสั่งงานสร้างพระอุโบสถ จนหมดเสียง-หมดลมปากจะสั่ง-พูดแผ่วจนฟังไม่ได้ยิน ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญที่บรรดาศิษย์จะต้องคิด-ต้องดำเนินงานเสริมสร้างต่อไปจนสำเร็จ

     การตอบแทน สนองบุญคุณ ของผู้ที่มีพระคุณนั้น ไม่เฉพาะต่อกับพ่อท่าน แม้กับผู้มีพระคุณอื่นๆ ก็ควรทำให้เสมอกัน ไม่ควรคิดทำเพียงผักชีโรยหน้า-ชั่วครั้งชั่วคราว พอเป็นพิธีให้เอิกเกริกเท่านั้น บุญกุศลและความดี ย่อมอยู่ที่การกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำให้มาก-ทำบ่อยๆ-ทำเสมอต้นเสมอปลาย

     พ่อท่านได้ป่วยเป็นโรคชรา-กระเสาะกระแสะมาเป็นเวลานาน ซึ่งท่านได้เรียกมันว่าโรคเวรโรคกรรม เพราะรักษาไม่ถูก-ไม่หายสักที เวลาอาการกำเริบขึ้น ท่านก็หยุดทำงาน พอค่อยทุเลาลง ท่านก็ทำงานของท่านต่อไป ในที่สุดท่านก็ต้องพ่ายแพ้ต่อความเป็นธรรมดาของสังขาร และพวกเราทุกคน ก็ต้องแพ้มันเหมือนกัน แล้วก็ม้วนเสื่อกลับบ้านเก่ากัน

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๖๗  เป็น พระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๗๔  เป็น เจ้าคณะตำบล
 เจ้าอาวาสอยู่ที่วัดแหลมวัง

มรณกาล


     พระครูจันทรสาราภิรัต (จันทร์) มรณภาพ เมื่อวันอังคารที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง ด้วยอาการสงบอันดี รวมอายุของท่านได้ยังไม่เต็ม ๗๖ ปีบริบูรณ์

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูจันทรสาราภิรัต

ที่มา


หนังสือเสียงสำนึกที่ พระประสิทธิศีลคุณ วัดประยุรวงศ ฯ ธน ฯ เขียนเมื่อ ๑ เมษายน ๒๔๙๗. สำหรับแจกในงานพระราชทานเพลิงศพพ่อท่านจันทร์ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๗.

ผู้แนะนำข้อมูล


เกรียงศักดิ์ เมฆสุข


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook