พระชินวงศาจารย์ (อุดม ขนฺติพโล) | พระสังฆาธิการ

พระชินวงศาจารย์ (อุดม ขนฺติพโล)


 
เกิด ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒
อายุ ๘๗ ปี
อุปสมบท ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
พรรษา ๕๗
มรณภาพ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
วัด วัดป่าเวฬุวัน
ท้องที่ นครราชสีมา
สังกัด ธรรมยุติกนิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก


VIEW : 1,377

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระชินวงศาจารย์ มีนามเดิมว่า อุดม เขตเจริญ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง ที่บ้านท่าสองคอน หมู่ที่ ๘ ตำบลท่าดินแดง อำเภอแซงบาดาล (ปัจจุบันคือบ้านธวัชดินแดง อำเภอธวัชบุรี) จังหวัดร้อยเอ็ด โยมบิดาชื่อ พึ่ง โยมมารดาชื่อ คำผัน มีพี่น้องร่วมมารดา ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนโต


ชีวิตประถมวัย

     เนื่องจากครอบครัวของท่านมีอาชีพทำนา ทำสวน การดำเนินชีวิตก็เหมือนชาวนาทั่วไป ชีวิตจึงมีความผูกพันกับท้องทุ่ง ไร่นา ขณะที่ท่านอายุได้ ๔ ขวบบิดาได้นำไปฝากเป็นลูกศิษย์วัดใกล้บ้าน กับพระอาจารย์วิสุทธิ์ วิสุทฺโธ (ต่อมาได้รับสมศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิธรรมคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าสุวารีวิหาร และรองเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรี) ผู้เป็นหลวงลุง เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียน เพราะการศึกษาสมัยนั้นต้องเรียนในวัดโดยมีพระครูเป็นผู้สอน และ เพื่อให้ท่านได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา และได้ซึมซับรับเอาคุณธรรมมาเป็นเครื่องหล่อหลอมจิตใจ

     เมื่อท่านมาเป็นลูกศิษย์วัดแล้ว ก็ยังไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ เพราะเด็กที่จะเข้าเรียนประถมศึกษาได้ต้องมีอายุ ๗ ขวบ ดังนั้นท่านได้ใช้เวลาในช่วงนี้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์ก่อน โดยการเรียนต้องอาศัยการท่องจำและการเขียนตามคำบอกโดยเรียนหนังสือในตอนกลางวัน ตกเย็นต้องคอยรับใช้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ซึ่งครูบาอาจารย์ก็จะอบรมสอนธรรมะและเล่านิทานชาดกให้ฟังโดยตลอด จึงทำให้ท่านได้รับการอบรมทั้งความรู้และคุณธรรมไปพร้อมกัน

     ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ขณะที่ท่านอายุได้ ๖ ขวบ พระอาจารย์ของท่านได้ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมตามป่าเขาในเขตภาคอีสาน ท่านได้จึงได้ติดตามพระอาจารย์ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรบางครั้งก็เข้าไปศึกษาในสำนักปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์ต่างๆ โดยท่านได้อุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์หลายท่าน และได้ร่วมปฏิบัติธรรมกับสามเณรด้วย กระทั่งสำนักสุดท้ายที่ท่านออกธุดงค์ครั้งนั้นคือ ได้ไปปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ถ้ำค้อ จังหวัดสกลนคร

     ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้ติตามพระอาจารย์ไปกรุงเทพเพื่อกราบพระอมราภิรักขิต ซึ่งเป็นอุปัชฌายะของพระอาจารย์ที่วัดบรมนิวาส ได้เข้าพักที่กุฏิเสงี่ยม คณะ ๓ โดยในปีนั้นพระอาจารย์ท่านได้จำพรรษาที่วัดบรมนิวาสนั้นเอง

     ในระหว่างพรรษาได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย โดยกองกำลังของฝ่ายตรงข้ามได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น คลังอาวุธ อาคารกองบัญชาการ ถนนหนทาง สะพาน สถานีรถไฟเป็นต้น ซึ่งวัดบรมนิวาสอยู่ไม่ห่างจากสถานีรถไฟหัวลำโพง และเป็นทางผ่านของรางรถไฟจึงทำให้ไม่ปลอดภัย พอออกพรรษาแล้วพระอาจารย์ของท่านเห็นว่าบ้านเมืองยังไม่สงบหากอยู่ต่อไปจะมีอันตรายแก่ชีวิตได้ จึงกราบลาพระอุปัชฌายะกลับไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด


การศึกษา

     ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ขณะที่ท่านอายุได้ ๘ ขวบพระอาจารย์ของท่านปรารถนาจะให้ท่านเรียนหนังสืออย่างสมัยนิยมจึงได้นำท่านไปฝากเรียนที่โรงเรียนประชาบาลบ้านโคกกรุง ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

     เพราะความที่ท่านเคยศึกษาเล่าเรียนหัดอ่านหัดเขียนมาแล้วกับครูบาอาจารย์ในช่วงที่เป็นศิษย์วัด ดังนั้น พอเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ได้เพียงครึ่งปี ทางโรงเรียนได้สอบวัดผลปรากฏว่าท่านสอบได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ จึงให้ท่านได้เลื่อนขึ้นไปชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒

     ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ พอถึงกลางภาคสอบวัดผล ก็ปรากฏว่าท่านสอบได้คะแนนสูงสุดของชั้นเรียน ๙๒ เปอร์เซ็นต์ ครูใหญ่จึงให้เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จึงนับได้ว่าท่านใช้เวลาเรียนเพียง ๒ ปีเท่านั้น ก็จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งถือว่าเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาพื้นฐานในสมัยนั้นขณะที่อายุเพียง ๑๐ ขวบ

     พอจบการศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลแล้ว ท่านต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา เพราะความที่ทางบ้านยากจน ถึงแม้ท่านจะเรียนดีและมีความพยายามที่จะศึกษาต่อก็ตาม

     กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ขณะที่ท่านอายุได้ ๑๓ ปี บิดามารดาของท่านได้เห็นความตั้งใจเรียนรู้ของท่านและเห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะคนในสมัยนั้นคนที่เรียนจบมัธยมศึกษาก็สามารถเข้ารับราชการเป็นครู อาจารย์ ทหาร ตำรวจได้ หรือคนที่จบนักธรรมตรี โท เอก ก็สามารถเข้ารับราชการเป็นครู อาจารย์ ทหาร ตำรวจ บุรุษไปรษณีย์ หรือเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ ดังนั้น บิดามารดาของท่านจึงได้นำฝากไปเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาชั้นต้น ที่โรงเรียนสุวรรณวิทยา อำเภอธวัชบุรี และเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนโพนทองวิทยา อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด จนกระทั่งจบมัธยมศึกษาตอนปลายในปี พ.ศ. ๒๔๙๑


ชีวิตการทำงาน

     หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ท่านได้ทำงานช่วยครอบครัว และรับจ้างทั่วไป กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริการประชาชนด้านสาธารณสุข ในองค์การอนามัยโลก ( WHO ) สาขาโรคติดต่อ ที่จังหวัดขอนแก่น

     ทำงานที่องค์การอนามัยโลก ได้ ๕ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านเห็นว่าหน้าที่การงานไม่มั่นคง ถึงแม้เงินเดือนจะสูงก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงลูกจ้างขององค์การต่างชาติเท่านั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ท่านจึงได้ลาออกจากงาน หลังจากนั้นจึงไปสมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประจำแผนกคลังจังหวัดหนองคาย ปรากฏว่าท่านสอบได้ในลำดับที่ ๑๓ จากผู้เข้าสอบหลายร้อยคน ท่านจึงได้บรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่นั้น


อุปสมบท

     หลังจากออกจากราชการแล้ว ท่านจึงกลับไปยังบ้านเกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในช่วงนี้ท่านได้อาศัยหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำรงชีวิต ได้พิจารณาถึงธรรมที่เคยศึกษาอบรมกับครูบาอาจารย์ และเห็นสัจธรรมมีความทุกข์อันเกิดจาก ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น จึงทำให้ใจน้อมนำไปบรรพชามีความปรารถนาที่จะบวช

     เมื่อพิจารณาถึงอาการป่วยด้วยโรคประสาทของท่านแล้วเห็นว่าไม่เป็นอุปสรรคในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเป็นเพียงแต่มีอาการปวดบ้างบางครั้งเท่านั้น ท่านได้ขอบวชกับพระครูวิสุทธิธรรมคุณ พระอาจารย์ โดยได้รับการอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ ณ พัทธสีมาวัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี พระราชสิทธาจารย์ (เฮือง ปภสฺสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระใบฎีกาสมศักดิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาเนาว์ นวโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ขนฺติพโล” แปลว่า ผู้มีกำลังคือความอดทน


การศึกษา

พ.ศ. ๒๕๐๑ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. ๒๕๐๒ สอบได้ นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๕๐๓ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๕๑๒  เป็น ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่าเวฬุวัน
พ.ศ. ๒๕๑๕  เป็น เจ้าอาวาสวัดป่าเวฬุวัน
พ.ศ. ๒๕๒๑  เป็น เจ้าคณะตำบลเมืองปัก (ธ)
พ.ศ. ๒๕๒๗  เป็น เจ้าคณะอำเภอปักธงชัย (ธ)
พ.ศ. ๒๕๓๑  เป็น พระอุปัชฌาย์

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็น พระครูสังฆรักษ์ ฐานานุกรมใน พระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชโล)
พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระครูอุดมคัมภีรญาณ
พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระชินวงศาจารย์ [1]

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๒๑, ตอนที่ ๓ ข, ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗, หน้า ๑๗
web-pra.com


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook