พระครูพจนกวี (ฟุ้ง โกวิโท) | พระสังฆาธิการ

พระครูพจนกวี (ฟุ้ง โกวิโท)


 
เกิด ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘
อายุ ๙๒ ปี
อุปสมบท ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑
พรรษา ๗๐
มรณภาพ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๑
วัด วัดปราการ
ท้องที่ สุราษฎร์ธานี
สังกัด มหานิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก


VIEW : 1,534

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระครูพจนกวี มีนามเดิมว่า ฟุ้ง นพคุณ เกิดเมื่อวันจันทร์ แรม ๕ ค่ำเดือน ๕ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ณ บ้านกะเปาใต้ หมู่ที่ ๕ ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรนายฟ่อน นพคุณ กับนางฟัก นพคุณ (ครรชิต)

ท่านมีพี่น้องทั้งหมด ๒ คน ได้แก่
     - นาย ฟุ้ง นพคุณ (พระครูพจนกวี)
     - นางแจะ ชิตกุล (นพคุณ)

มีบุตรธิดารวมทั้งหมด ๘ คน ได้แก่
     ๑) นางละอาย เอกรัตน์ (ชิตกุล)
     ๒) นางละออง วรชัย (ชิตกุล)
     ๓) นางละเอียง จันทร์ช่วง (ชิตกุล)
     ๔) นายละออ ชิตกุล
     ๕) นายเอื้อน ชิตกุล
     ๖) นายอิ่น ชิตกุล (ถึงแก่กรรม)
     ๗) นายสยาม ชิตกุล
     ๘) พระทวีศักดิ์ สุเมโธ (ชิตกุล) จำพรรษา ณ วัดเกษตราราม (นาชะอม)


ประวัติการศึกษา

     ได้ศึกษาในระดับประถมศึกษา จนจบการศึกษาสามัญ ชั้นประถมปีที่ ๔ จาก โรงเรียนประชาบาลบ้านท่าขนอน (ปัจจุบัน เป็น โรงเรียนบ้านท่าขนอน) ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ นับว่าท่านเป็นศิษย์รุ่นที่ ๑ ที่จบจากการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้อีกด้วย

     หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนบ้านท่าขนอนแล้ว ก็ได้ออกมาประกอบอาชีพทำนา กับครอบครัวของท่าน ที่บ้านคลองเกาะ หมู่ที่ ๗ ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อบิดาและมารดาของท่านถึงแก่กรรมแล้ว ท่านจึงได้อยู่ในการอุปการะของนายฟอง และ นางจันทร์ นพคุณ (กบิล) ซึ่งเป็นอาชายและอาสะใภ้ของท่าน


บรรพชาอุปสมบท

     ก่อนท่านจะบรรพชาอุปสมบทนั้น ท่านได้ช่วยบิดามารดาและครอบครัวทำนา ที่หมู่ ๗ ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

     บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ตรงกับ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๘ เวลา ๑๕.๓๗ น. ณ วัดโกศาวาส ตำบลกะเปา อำเภอคีรีรัฐนิคม โดยมี พระสมุห์ แก้ว อินฺทปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุคีรีอินทรวิหาร (อินทราวาส) เป็นพระอุปัชฌาย์

     ท่านได้บวชเป็นสามเณรในช่วงเวลาระยะหนึ่ง จึงได้ลาสิกขาออกมาประกอบอาชีพกับอาของท่าน

     อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย ณ ณ พัทธสีมาวัดปราการ (ละมุ) ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี พระครูสถิตสันตคุณ (พัว เกสโร) เมื่อครั้งยังเป็น พระปลัด พัว เกสโร เจ้าคณะแขวงท่าขนอน (เจ้าคณะอำเภอคีรีรัฐนิคม) เจ้าอาวาสวัดจันทร์ประดิษฐาราม (บางเดือน) ตำบลบางเดือน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิศาลคณะกิจ (เผือก) เจ้าคณะแขวงบ้านนา (เจ้าคณะอำเภอบ้านนาเดิม) เจ้าอาวาสวัดถ้ำสิงขร ตำบลถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายานามว่า โกวิโท ซึ่งแปลว่าผู้ฉลาด, ปราดเปรื่อง, ชำนิชำนาญ.

     เมื่อท่านจำพรรษา ณ วัดปราการ นั้น ท่านได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ของ ท่านพระอธิการเชื่อม ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดปราการ เข้าศึกษาทั้งด้านปริยัติธรรมและวิทยาคม ที่ท่านไปศึกษามาจาก ท่านพระครูประกาศธรรมคุณ (เกว ติสฺโส) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และ หลวงพ่อเจ้าอธิการคล้าย วิชิโต ซึ่งเป็นปฐมาจารย์แห่งลุ่มน้ำพุมดวงตอนบน จากนั้นจึงได้ไปศึกษาวิชาความรู้เพิ่มเติม จากท่านเจ้าอธิการคล้าย วิชิโต ณ วัดพระมหาธาตุคีรีอินทรวิหาร (อินทราวาส) และ หลวงพ่อพระครูสถิตสันตคุณ (พัว เกสโร) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ จนจบในวิชาวิทยาคมทั้งปวง แล้วจึงกลับมายัง วัดปราการ ดังเดิม ท่านพระครูพจนกวี นับว่าเป็นศิษย์ก้นกุฏิหรือศิษย์รัก ของหลวงพ่อเชื่อม เป็นอย่างมาก เพราะว่าท่านประพฤติตัวอยู่ในโอวาทของท่านอาจารย์ตลอด พยายามสอบถามความรู้ให้เข้าใจโดยถ่องแท้ เพราะเหตุนี้ ในเวลาต่อมา ท่านพระครูผู้นี้จึงเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่น่าเลื่อมใส ดังเช่นเดียวกันหลวงพ่อเชื่อม ผู้เป็นอาจารย์เลยทีเดียว


การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๐ สำเร็จการศึกษาชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านท่าขนอน
พ.ศ. ๒๔๗๔ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียน วัดปราการ
พ.ศ. ๒๔๗๕ สอบได้ นักธรรมชั้นโท สำนักเรียน วัดปราการ
พ.ศ. ๒๔๗๖ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียน วัดปราการ

เกียรติคุณ

     ท่านอาจารย์นับว่าเป็นพระมหาเถระ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอีกท่านหนึ่ง ในอำเภอคีรีรัฐนิคม มีศีลาจารวัตรที่งดงาม น่าเลื่อมใสศรัทธา เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นพระที่พูดน้อย แต่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ไม่เคยกล่าวคำผรุสวาทออกมาเลย เป็นพระนักพัฒนาให้วัดปราการ ได้เจริญก้าวหน้าและ เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกทั้งด้านความสะอาดที่เป็นเยี่ยมของวัดปราการ เป็นที่เจริญตาแก่ผู้พบเห็น อีกทั้งถาวรวัตถุในสมัยท่าน ก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ ไว้ได้เป็นอย่างดี ตราบเท่าปัจจุบันนี้ ท่านนับว่าเป็นพระมหาเถระผู้ทรงวิทยาคมสูงอีกท่านหนึ่ง แต่ท่านไม่นิยมในการสร้างวัตถุมงคลของท่านเองเลย แต่ท่านก็รับกิจนิมนต์ไปในพิธีพุทธาภิเษก และพิธีสำคัญๆของอำเภอคีรีรัฐนิคม และจังหวัดสุราษฎร์ธานีอยู่เสมอๆ ไม่ได้ขาด ท่านจะออกบิณฑบาตทุกๆเช้า และท่านจะลงทำวัตรเช้า-เย็น ทุกๆวันอย่างสม่ำเสมอเลยทีเดียวเช่นนี้ จึงชี้ให้เห็นได้ชัดว่า ท่านเป็นทรงซึ่งธรรมวินัย เมตตาบารมี อันเป็นที่เคารพนับถืออย่างไม่เสื่อมคลาย

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น รองเจ้าอาวาสวัดปราการ
พ.ศ. ๒๔๙๓  เป็น รักษาการเจ้าอาวาสวัดปราการ
พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็น เจ้าอาวาสวัดปราการ

งานทางด้านการศึกษา

     ท่านอาจารย์นับว่าเป็นพระผู้ส่งเสริมในเรื่องของการศึกษาอย่างเป็นเลิศ ทั้งทางด้านการปริยัติธรรม คือ ท่านเป็นทั้งครูสอนพระปริยัติธรรม เจ้าศาสนศึกษา และเจ้าสำนักสนามสอบธรรมสนามหลวง อย่างเต็มความสามารถ จนมีผู้สอบผ่านนักธรรมได้เป็นจำนวนมาก

     ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านพระครูปราการสมานคุณ วัดตาขุน ซึ่งเป็นสหธรรมิกที่สนิทของท่านอาจารย์ เมื่อครั้งยังจำพรรษา ณ วัดปราการ ได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมขึ้นในอำเภอคีรีรัฐนิคมเป็นครั้งแรก โดยพิจารณาจากความเห็นว่า เด็กๆในอำเภอคีรีรัฐนิคม ทั้งสามเขต คือ คีรีรัฐนิคม บ้านตาขุน และพนม ที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้ว ไม่มีโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษามากนัก จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นมา จึงทำให้เด็กนักเรียนใน ๓ พื้นที่ ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาได้ แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของที่พักอาศัยของนักเรียนที่มาศึกษา ท่านอาจารย์เมื่อครั้งยังเป็น รองเจ้าอาวาสวัดปราการ ได้ขออนุญาตจากหลวงพ่อเชื่อม ธมฺมโชโต ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น เพื่อจะรับอุปการะนักเรียนที่ขาดที่พักอาศัย ให้มาพักในวัดปราการ โดยท่านเองจะเป็นผู้ที่ดูแลสั่งสอน อบรมทั้งกิริยามารยาท ให้เด็กเหล่านั้นมีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม รู้จักปฏิบัติในหลักธรรมที่ง่ายๆ ซึ่งท่านต้องดูแลเด็กจำนวนกว่าครึ่งร้อย ในการปกครองของท่าน ให้ได้รับการศึกษาที่สมบูรณ์ ออกไปประกอบอาชีพให้ตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นไป จนหลายคนเป็นถึงหัวหน้างานก็หลายคน จึงนับว่าท่านเป็นผู้พัฒนาด้านการศึกษาอย่างดียิ่งเลยทีเดียว

     ท่านอาจารย์พระครูพจนกวี ท่านเป็นผู้มีเมตตาธรรม เจริญในพรหมวิหาร ๔ อยู่เป็นนิตย์ ในการปกครองศิษย์ของวัดปราการจำนวนไม่น้อยนั้น ที่มาอาศัยเพื่อเรียนในโรงเรียเชิงเวชผดุงวิทย์ (ธรรมานุสรณ์) และ โรงเรียนบ้านท่าขนอน ซึ่งเมื่อเด็กมาจากหลายๆพื้นที่ ท่านจึงคอยอบรม หล่อหลอมให้เด็กมีความสามัคคีกัน และให้เด็กๆเหล่านั้นได้เป็นคนดีของสังคม ด้วยความวิริยะอุตสาหะของท่าน นับเป็นสิ่งที่ควรบูชา ด้วยกตเวทิตาธรรมของศิษยานุศิษย์ ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชาววัดปราการอย่างไม่เสื่อมคลาย

ผลงานด้านการประพันธ์

     ท่านมีนิสัยชอบคิดหาเรื่องจูงใจ ให้ตัวท่านเองและผู้ใกล้ชิดกับท่านได้เพลิดเพลิน ท่านเป็นนักเขียน นักประพันธ์ และเป็นนักกวีที่หาผู้เทียบเคียงค่อนข้างยาก จากวัยหนุ่มจนกระทั่งปัจฉิมวัย ชีวิตส่วนใหญ่ของท่านอยู่กับการเขียนหนังสือมีผลงานดีเด่น ที่สำนักพิมพ์ต่างนำมาพิมพ์เผยแพร่ผลงานของท่านมากมายหลายสำนักพิมพ์ ในเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เช่น นิราศไปวัดเขาพัง นิทานพระดำ เป็นต้น และปณิกกะกวีอีกมากมายหลายร้อยเรื่อง ที่เป็นข้อคิดสอนใจในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

เสนาสนะ – ถาวรวัตถุที่สร้างและซ่อมแซม(บางส่วน)

พ.ศ. ๒๕๐๒ พุทธบริษัทชาววัดปราการ รวมสร้างแทงค์น้ำถวาย ๓ ถัง
พ.ศ. ๒๕๐๖ ท่านได้สร้างประตูของวัดปราการ ทางด้านทิศเหนือ พร้อมด้วยกำแพงกั้นพื้นที่ของวัด
พ.ศ. ๒๕๒๓ นส.เกลื้อม สุขเกิด ได้สร้างหน้าชานบริเวณกุฏิพระชาญ อาภสฺสโร
พ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านได้สร้างเมรุสถานวัดปราการ ณ บริเวณที่ดินธรณีสงฆ์ หลังโรงเรียนคีรีรัฐนิคม
พ.ศ. ๒๕๓๔ สร้างหอฉัน มูลค่า ๖๐๐,๐๐๐ บาท
ไม่ทราบปี พ.ศ. บูรณะศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ในวัดปราการ
พ.ศ. ๒๕๔๑ ดำริสร้างอุโบสถหลังใหม่ แต่ท่านมรณภาพเสียก่อน แล้วเสร็จ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒

สหธรรมิกที่สำคัญ

๑) พระครูวิสุทธิธรรมานุวัตร (ชู ธมฺมธโร) วัดท่าตลิ่งชัน อำเภอพุนพิน
๒) พระครูวิรัชพิริยาทร (รัตน์ วิริยนนฺโท) วัดโกศาวาส (กะเปา) อำเภอคีรีรัฐนิคม
๓) พระครูปราการสมานคุณ (เรียม คุณวุฒโฑ ป.ธ.๓) วัดตาขุน อำเภอบ้านตาขุน
๔) พระครูมนูญธรรมธาดา (ชุม โฆสธมฺโม) วัดถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม
๕) พระเทพสิทธินายก (ข้อง เกสโร ป.ธ.๗) วัดไตรธรรมาราม อำเภอเมืองฯ
๖) พระใบฏีการื่น ปุณณาจาโร วัดพระมหาธาตุคีรีอินทรวิหาร (อินทราวาส) อำเภอคีรีรัฐฯ
๗) พระครูโชติธรรมญาณ (เติม โชติณญาโณ ป.ธ.๓) วัดดิตถาราม (เกาะยวน) อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปัจฉิมวัย


     ท่านพระครูพจนกวี ได้เขียนความประสงค์ ของท่าน ไว้ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ วัดปราการ ซึ่งมีเนื้อหาดังความต่อไปนี้

     “ ข้าพเจ้า พระครูพจนกวี (ฟ.โกวิโท หรือ ฟุ้ง นพคุณ) เจ้าอาวาสวัดปราการ ต.ท่าขนอน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี อายุ ๗๓ ปี เขียนความประสงค์เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ และขณะเขียน ข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ดี ไม่มีอะไรบีบบังคับกดดัน และเขียนขึ้นด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์เพื่อให้ท่านพุทธบริษัท วัดปราการ ทราบความประสงค์ของข้าพเจ้า ดังนี้
๑) ถ้าข้าพเจ้าตายด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ท่านจะทำบุญตามประเพณี หรือ ไม่ทำก็ได้ตามความสมัครใจ แต่อย่าให้ฝืนความรู้สึก ให้ทำตามศรัทธา
๒) เมื่อเสร็จพิธีแล้ว กรุณาช่วยนำศพไปเผาป่าช้า (เปรวหยี) อย่าเผาในที่วัดหรือที่อื่นใด
๓) อย่าเผาในกรานที่สร้างไว้ กรุณาช่วยเผาศพบนจอมปลวกที่พอกองฟืน และตั้งหีบศพได้ เผาแล้วกวาดกระดูกเถ้าถ่านฝังที่นั้น ไม่ต้องนำกระดูกกลับวัด หรือที่อื่น
๔) กรุณาช่วยหล่อนหลักปูนเสริมเหล็ก ใช้เหล็ก ๔ หุน เป็นเหล็กยืน ๘ เส้น เหล็ก ๓ หุน ทำปลอกให้ชิดสักหน่อย สูงราว ๖ ศอก ใหญ่หน้าด้านละ ๑๒ นิ้ว จารึกชื่อ “ฟ.โกวิโท” ไว้ด้านบน และ จารึก “ฟุ้ง นพคุณ” ไว้ข้างใต้ ฝังหมายไว้ตรงที่เผาศพด้วย
๕) ไม่ต้องทำบุญพิเศษ เช่น ๕๐ วัน หรือ ๑๐๐ วัน เมื่อมีพิธีทำบุญเดือน ๑๐ ข้างสิ้น ถ้าท่านกรุณาอุทิศเศษกุศลคนละนิดละหน่อย ให้ข้าพเจ้าจะขอขอบพระคุณยิ่ง
๖) ถ้าข้าพเจ้าตายที่อื่นนอกเขต จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่าไปนำศพกลับวัดเป็นอันขาด คือตายที่ไหน ก็ให้เผาที่นั้น
๗) ถ้าตายที่นี้ เงินของข้าพเจ้าพอมีจัดถวายพระเณร ให้จัดถวายอย่าได้รบกวนญาติมิตร ขอเพียงจัดอาหารถวายพระเณรเท่านั้น
๘) เมื่อข้าพเจ้าตาย ขอให้พระราชทานเพลิงศพทันที อย่าเก็บศพไว้ให้เป็นภาระหนักแก่คนอื่นเด็ดขาด เสร็จพิธีครั้งแรกแล้วนำไปเผาเลย

     ญาติมิตรพุทธศาสนิก ผู้มีกัลยาณจิตทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอความกรุณาท่านทั้งหลายในวาระสุดท้าย เมื่อข้าพเจ้าตายแล้ว ขอให้ท่านช่วยอนุเคราะห์ให้สำเร็จตามประสงค์ของข้าพเจ้าเถิด

     ที่สุดนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย จงอยู่ด้วยกันด้วยความสุขสงบ อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย สามัคคีกันไว้ รักใคร่เมตตาดีกว่าชัง เราตายไปลูกหลานยังอยู่ ขอให้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังอยู่คู่กับไทยตลอดกาลนาน "

     ขอแสดงความนับถือวาระสุดท้าย
                (พระครูพจนกวี)  

ซึ่งผู้เป็นพยาน ในการทำหนังสือ ความประสงค์ของท่าน ฉบับนี้ของท่านอาจารย์ ก็คือ
• ท่านพระปลัดหวล สุคนฺโธ รองเจ้าอาวาสวัดปราการ
• ท่านพระปลัดวิเชียร ฐานสุทฺโธ (พระครูปราการถิรคุณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปราการ ในขณะนั้น
• ส.ต.ท.เสรี เสรยางกูร กำนันตำบลท่าขนอน
และบรรดาคณะพุทธบริษัท ศิษย์ใกล้ชิดของท่านอาจารย์พระครูพจนกวี

มรณกาล


     พระครูพจนกวี (ฟุ้ง โกวิโท) ได้อาพาธด้วยโรคชรา ท่านได้รับการรักษา ณ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม

     และท่านได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อ วันพุธ ที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เวลา ๑๔.๐๖ น. ณ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม สิริอายุรวม ๙๒ ปี ๙ เดือน ๔ วัน พรรษา ๗๐ มีการบำเพ็ญกุศลสรีระไว้เป็นเวลา ๑๐ คืน ณ ศาลาการเปรียญ วัดปราการ และมีการพระราชทานเพลิงศพ ณ เชิงตะกอนที่ทำด้วยไม้ฟืนตามที่ท่านสั่งไว้ในพินัยกรรม

     ณ เมรุสถานวัดปราการ ในวันอาทิตย์ ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๑ และจัดการไถเชิงตะกอน ให้ราบไปกับพื้น ตามคำสั่งในของท่านที่ว่า "เผาแล้วกวาดกระดูกเถ้าถ่านฝังไว้ที่นั้น ไม่ต้องนำกระดูกกลับวัด และกรุณาช่วยหล่อนหลักปูนเสริมเหล็ก สูง ๖ ศอก สลักว่า ฟ.โกวิโทไว้ด้านบน ฟุ้ง นพคุณ ไว้ด้านล่าง ฝังหมายไว้ตรงที่เผาศพด้วย"

สมณศักดิ์


๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี ที่ พระครูพจนกวี

ที่มา


หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พระครูพจนกวี (ฟุ้ง โกวิโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดปราการ ต.ท่าขนอน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๑.
จากคำบอกเล่าด้วยวาจาจาก พระครูปราการถิรคุณ (วิเชียร ฐานสุทโธ) เจ้าอาวาสวัดปราการองค์ปัจจุบัน.
จากการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารที่เกี่ยวเนื่อง กับท่านพระครูพจนกวี ทุกๆฉบับ.
หนังสือ ครบรอบ ๒๐๐ ปี วัดปราการ ๒๒-๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔.
จากคำบอกเล่าของคุณน้าเขียว บัวทอง ในเรื่องพิธีเคลื่อนศพไปพระราชทานเพลิง.
จากคำบอกเล่าของคุณลุงวัฒนา สุขเกิด ศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่านอาจารย์ ในเรื่องหีบบรรจุศพของท่านอาจารย์.
จากการสอบถาม และจากคำบอกเล่าของคุณแม่บุญธรรม คุ้มประยูร (สมบุญ) มารดาของข้าพเจ้า ในเรื่องศีลาจารวัตรของท่านอาจารย์.
จากการสัมภาษณ์ทุกท่านๆในทุกๆข้อมูลของท่านอาจารย์พระครูพจนกวี.

ผู้แนะนำข้อมูล


สหเมธัส คุ้มประยูร : เรียบเรียง
เกรียงศักดิ์ เมฆสุข : ตรวจทาน
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : ตรวจทาน


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook