พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (บัน อุปนนฺโท) | พระสังฆาธิการ

พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (บัน อุปนนฺโท)


 
วัด วัดชัยธาราวาส
ท้องที่ สุราษฎร์ธานี
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 662

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ เกิด ณ แขวงประสงค์ เมืองไชยา (ตำบลประสงค์ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน) เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๘ (ปีเถาะ) ข้อมูลอ้างอิงจากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖ ภาค ๑ หน้า ๔๐๑ พ.ศ. ๒๔๖๑ ระบุข้อความว่า “พระครูศีลพงศ์คณารักษ์ (บัน) เจ้าคณะวัดอุปนันทาราม จังหวัดระนอง อายุ ๖๓ ปี ๔๓ พรรษา อาพาธเป็นลม ถึงมรณภาพวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑”


อุปสมบท

     อุปสมบท เมื่ออายุ ๒๐ ปี พ.ศ.๒๔๑๘ ณ วัดดอนกระชาย (วัดชัยธาราวาส) แขวงประสงค์เมืองไชยา โดยมี พระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว (ทองอยู่) เจ้าคณะเมืองไชยา วัดโพธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่ทราบนามพระคู่สวด ได้รับฉายาทางธรรมว่า “อุปนนฺโท

     เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษา ศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดดอนกระชาย ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนกระชาย


เล่าขานหลวงพ่อบัน ไชยา-ระนอง

     เรื่องราวของท่านขาดการบันทึกไว้ มีแต่เพียงคำบอกเล่า ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ก็ได้เจอข้อมูลในบันทึกของ พระครูประสงค์สารการ (เทศน์ ธมฺมสํวโร) อดีตเจ้าคณะอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อบัน เป็นบันทึกที่เขียนกล่าวถึงหลวงพ่อบันโดยตรง หลวงพ่อเทศน์ ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรจากหลวงพ่อบัน และจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อบัน ณ วัดดอนกระชาย หรือวัดชัยธาราวาส ๑ พรรษา

     หลวงพ่อเทศน์ท่านเขียนกล่าวถึงชื่อของหลวงพ่อบัน ว่า “พระครูศีลพงษ์ฯ (บัน) อุปนนฺโท” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยที่หลวงพ่อเทศน์ยังอยู่ในวัยเด็ก อายุ ๘-๑๘ ปี เป็นเหตุการณ์ที่ท่านจำได้ และเมื่อตีความจากเหตุการณ์ที่ท่านเขียนบรรยายในบันทึกนั้น เป็นการเขียนจากเหตุการณ์ที่หลวงพ่อเทศน์ได้ประสบพบเจอ และ จากคำบอกเล่าที่หลวงพ่อบันได้เล่าให้หลวงพ่อเทศน์ฟัง โดยข้อมูลทั้งหมดอ้างอิงจาก เอกสารประวัติวัดในอำเภอท่าชนะ ที่หลวงพ่อเทศน์ได้บันทึกไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นเอกสารที่เขียนด้วยลายมือของพระครูประสงค์สารการ (เทศน์ ธมฺมสํวโร) อดีตเจ้าคณะอำเภอท่าชนะ จากบันทึกสรุปเป็นเหตุการณ์ได้ดังนี้

     บันทึกเล่าถึงประวัติวัดดอนกระชาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ หลวงพ่อบัน เป็นสมภารดอนกระชายอยู่แล้ว เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ เมืองไชยาโดนวาตภัยและอุทกภัยครั้งใหญ่ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้เกิดฝีดาษระบาด หลวงพ่อบันได้พาภิกษุและสามเณรหนีออกจากวัด แล้วเดินธุดงค์หนีฝีดาษ เพราะถ้าอยู่ก็ไม่มีเส้นทางในการบิณทบาต เพราะชาวบ้านทั้งหมดก็โดนโรคนี้ ร้ายแรงมาก มีควายตายด้วย พระเณรก็จะต้องอดอาหาร ท่านจึงพาธุดงค์ไปที่อื่น ต่อมาไม่นานพื้นที่เดิมก็ประสบโรคฝีดาดอีก ชาวบ้านชาววัดก็หนีกันไปตามยถากรรม

     หลวงพ่อบันยังธุดงค์ต่อ ในบันทึกบอกว่า หลวงพ่อบันได้เดินธุดงค์ไปพักที่นครชัยศรี (นครปฐม) และกรุงเทพฯ เป็นเวลา ๒ ปี ขณะเดียวกันนั้น หลวงพ่อบันได้เจอะเจอกับอหิวาตกโรคระบาดอีก ทำให้พระที่ติดตามธุดงค์มรณภาพไป ๑ รูป สามเณร ๒ รูป ยังเหลือ ๒ รูป คือ หลวงพ่อบัน และพระเฉย สหธรรมิกที่สนิทกับหลวงพ่อบัน และหลวงพ่อบันยังจำพรรษาอยู่แถบกรุงเทพฯ

ต่อมา ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ฝรั่งเศสได้รุกรานไทย หลวงพ่อบันเห็นอาการไม่ดี เลยเดินธุดงค์กลับวัดดอนกระชาย ท่านกลับมาหวังที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดดอนกระชาย ที่เสียหายจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ แต่สมัยนั้นประชาชนขัดสนเรื่องเงินทอง ไม่มีทุนทรัพย์ในการจัดสร้าง แต่ก็ได้จัดสร้างเท่าที่จะทำได้ คือ ปฏิสังขรณ์อุโบสถด้วยเครื่องไม้เก่าๆ มุงด้วยจาก เพื่อให้พระสงฆ์และสามเณรได้ประกอบสังฆกรรม ต่อมาได้สร้างกุฏิขึ้น ๑ หลัง พื้นไม้กระดาน กั้นด้วยไม้ฟากสับ มุงจาก ต่อมาหลวงพ่อเทศน์ อายุได้ ๑๖ ปี ในพ.ศ. ๒๔๓๗ ได้บรรพชาเป็นสามเณร กับหลวงพ่อบัน ณ วัดดอนกระชาย และจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อบัน ๑ พรรษา ต่อมาหลวงพ่อบันได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนกระชาย และให้พระเฉย พระสหธรรมิกของท่าน ครองวัดสืบต่อมา ท่านหมายจะไปกู้วัดเพหาร (วัดร้าง) ให้เป็นวัดขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็มีเหตุให้ท่านต้องเดินธุดงค์ต่อ

     พ.ศ. ๒๔๓๘ อายุ ๔๐ ปี ๒๐ พรรษา ท่านได้ออกจาริกธุดงค์จากแขวงประสงค์เมืองไชยา ผ่านเมืองหลังสวน เข้าสู่เมืองระนอง โดยได้ปักกลดอยู่ในป่าช้าของบ้านท่าด่านเมืองระนอง

     ชาวบ้านในสมัยนั้นได้นำของและภัตตาหารไปถวายและสนทนาธรรม คนเฒ่าคนแก่สมัยนั้นเห็นว่าหลวงพ่อบัน เป็นพระที่มีอภิญญา เก่งกล้าวิชาอาคม และเป็นพระที่มีความรู้อยู่พอสมควร จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และได้นิมนต์หลวงพ่อบัน ให้อยู่สร้างวัดด่าน ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นป่าช้าและสำนักสงฆ์ หลวงพ่อบันก็ได้รับนิมนต์ ท่านร่วมสร้างกับชาวบ้านพัฒนาจนแล้วเสร็จเป็นวัด และได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการศาสนา จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดด่าน และต่อมาเป็นเจ้าคณะจังหวัดรูปแรก ของจังหวัดระนองด้วย เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสร้างวัดด่าน ได้ตั้งชื่อวัดแบบเป็นทางการว่า “วัดอุปนันทาราม” เป็นการนำชื่อฉายาทางธรรมของหลวงพ่อบัน “อุปนนฺโท” มาตั้งเป็นชื่อวัด เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่หลวงพ่อบัน


สมณศักดิ์/ตำแหน่ง

๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นพระครูเจ้าคณะแขวงอำเภอกลางเมือง ที่ “พระครูบัน” ตั้งโดย พระเมธาธรรมรส (ท้วม กณฺณวโร ป.ธ.๕) วัดพิชยญาติการามฯ เจ้าคณะมณฑลภูเก็ต ในสมัยนั้น ตามระบุในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๑ หน้า ๕๘ ศก ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๖)
พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นเจ้าคณะรองเมืองระนอง มีราชทินนามว่า “พระครูศีลพงษ์คณารักษ์” ตามความในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ หน้า ๑๗๗๙ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ความว่า “ให้พระครูบัน วัดอุปนันทาราม เปนพระครูศีลพงษ์คณารักษ์ เจ้าคณะรอง เมืองระนอง พัดพุดตาลพื้นเยียรบับสลับสี”
๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ (สมัย ร.๖) เป็นเจ้าคณะเมืองระนอง ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๐ หน้า ๑๖๓๕ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๖ กระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี เรื่อง ยกแลตั้งเจ้าคณะเมือง ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกพระครูระนังควินัยมุนีวงษ์ เจ้าคณะเมืองระนอง เป็นเจ้าคณะเมืองโดยกิตติมศักดิ์ แลทรงพระกรุณาโปรดให้ พระครูศีลพงศ์คณารักษ์ รองเจ้าคณะเมือง เป็นเจ้าคณะเมืองระนอง
๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ (สมัย ร.๖) ประกาศกระทรวงธรรมการ เปลี่ยนชื่อเจ้าคณะเมืองเป็นเจ้าคณะจังหวัด ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๓ หน้า ๑๒๘๖ ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เมืองระนอง ซึ่งมี พระครูศีลพงศ์คณารักษ์ (บัน) เป็นเจ้าคณะเมือง เปลี่ยนเป็น เจ้าคณะจังหวัดระนอง (รูปแรก)

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๖๐  เป็น เจ้าอาวาสวัดชัยธาราวาส (ดอนกระชาย)
พ.ศ. ๒๔๕๔  เป็น เจ้าคณะรองเมืองระนอง
พ.ศ. ๒๔๕๖  เป็น เจ้าคณะเมืองระนอง
พ.ศ. ๒๔๕๙  เป็น เจ้าคณะจังหวัดระนอง

มรณกาล


     พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (บัน อุปนนฺโท) มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย สิริอายุ ๖๓ ปี พรรษา ๔๓

     “แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖ ภาค ๑ หน้า ๔๐๑ พ.ศ. ๒๔๖๑ ระบุข้อความว่า “พระครูศีลพงศ์คณารักษ์ (บัน) เจ้าคณะวัดอุปนันทาราม จังหวัดระนอง อายุ ๖๓ ปี ๔๓ พรรษา อาพาธเป็นลม ถึงมรณภาพวันที่ ๑๑ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๑”

เกี่ยวกับเรื่องการมรณภาพของหลวงพ่อบัน


     ก่อนมรณภาพมีผู้เล่าว่าขณะที่หลวงพ่อบรรณได้นั่งบนหลังช้างเพื่อพาพระใบฎีกาพลอย ธมฺมโชโต (ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดระนอง รูปที่ ๓) ไปเทศนาให้กับญาติโยมที่วัดหาดส้มแป้น ตำบลหาดส้มแป้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง แต่ในระหว่างเดินทางหลวงพ่อบรรณได้เกิดเป็นลม แล้วมรณภาพบนหลังช้างอย่างสงบ

     สำหรับพระใบฎีกาพลอย ธมฺมโชโต ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอุปนันทารามรูปที่ ๓ และเป็นเจ้าคณะจังหวัดระนองรูปที่ ๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระระนังควินัยมุนีวงศ์” และต่อมาได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นราชรูปแรกของจังหวัดระนองในราชทินนามเดิม

อิทธิฯกล่าวขานหลวงพ่อบันวัดด่าน


     สำหรับความอภินิหารและวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อบรรณมีอยู่หลายครั้ง เช่น

     เรื่องที่ ๑ เคยมีคนเข้าไปขโมยมะพร้าวในสวนของวัดตอนกลางคืน ทำให้คนขโมยออกจากสวนมะพร้าวไม่ได้เดินวนเวียนหาบมะพร้าวจนรุ่งสาง หลวงพ่อบรรณไปพบเข้าท่านจึงพูดขึ้นเป็นสำเนียงภาษาใต้ว่า "มึงวางต้า" หมายถึงให้วางลง คนที่ขโมยมะพร้าวเมื่อได้ยินก็วางหาบมะพร้าวลงแล้วเดินออกจากสวนมะพร้าวของวัดไปได้

     เรื่องที่ ๒ เกิดไฟไหม้ชุมชนตลาดเก่า เมื่อหลวงพ่อบรรณทราบข่าวว่าไฟไหม้บ้านของชาวบ้าน จึงรีบเดินทางไปที่เพลิงกำลังลุกไหม้อยู่ เมื่อไปถึงหลวงพ่อบรรณได้กำทรายขึ้นมาเสกแล้วเป่าวิทยาคม พร้อมด้วยการหว่านทราย ทำให้ไฟที่กำลังไหม้ดับมอดลงทันตาเห็น ไม่ลุกลามไปบ้านหลังอื่น

     เรื่องที่ ๓ มีเรื่องเล่าขานว่ามีไต้ก๋งเรือประมงคนหนึ่งห้อยเหรียญหลวงพ่อบัน (บรรณ) ติดตัว ถูกคลื่นซัดจนเรือล่ม ต้องลอยคออยู่ในทะเลอันดามัน มีปลาฉลามว่ายน้ำจะเข้ามางับ จึงได้บนบานถึงหลวงพ่อบรรณ ปรากฏว่าปลาฉลามได้แต่ว่ายน้ำวนเวียนโดยรอบไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้ ในที่สุดมีเรือประมงเข้ามาพบช่วยเหลือไว้ได้จนปลอดภัย เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวเรือประมงจำนวนมากเลื่อมใสศรัทธาเช่าเหรียญหลวงพ่อบรรณรุ่นต่างๆ ไปบูชาจำนวนมาก และเมื่อได้ในสิ่งที่ขอแล้ว จะต้องแก้บนด้วยหมากพลูตำ บุหรี่มวนใหญ่ ยาเส้นใบตอง ข้าว แกงเผ็ดเนื้อ น้ำพริกกะปิเผา เป็นต้น

     เรื่องที่ ๔ มีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือที่ตั้งของวัดด่านซึ่งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ซึ่งใต้แผ่นดินบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งแร่ดีบุกจำนวนมาก ถึงขนาดที่ผู้สัมปทานเหมืองแร่ในสมัยนั้นเสนอให้หลวงพ่อบรรณย้ายวัด แล้วจะสร้างวัดให้ใหม่ แต่หลวงพ่อบรรณไม่ยอมย้าย เรือขุดแร่พยายามขุดหาแร่เข้าไปบริเวณวัดแต่ก็ไม่เคยสำเร็จ เมื่อเรือขุดแร่เข้าใกล้เขตวัด เครื่อง ยนต์จะดับโดยไม่ทราบสาเหตุทุกครั้ง จนในที่สุดก็ต้องถอยกลับไปเอง

     หลวงพ่อบรรณ ถือเป็นพระเถระคู่เมืองของชาวระนองมายาวนาน วัดด่านได้สร้างรูปเหมือนไว้ในศาลาหลวงพ่อบรรณ ซึ่งมีผู้คนไปกราบไหว้บูชา บนบานขอสิ่งต่างๆ ทุกวันมิได้ขาดสาย เช่น คนที่มีบุตรยากไปอธิษฐานก็จะสมหวัง บางคนอธิษฐานขอเรื่องการเรียน การสอบเข้าทำงาน ให้หายเจ็บไข้ไม่สบาย หรือการเดินทางให้แคล้วคลาด หรือแม้กระทั่งของหาย เมื่ออธิษฐานก็ยังได้กลับคืน

สมณศักดิ์


๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็น พระครูเจ้าคณะแขวงอำเภอกลางเมือง ที่ พระครูบัน ตั้งโดย พระเมธาธรรมรส (ท้วม กณฺณวโร ป.ธ.๕) วัดพิชยญาติการามฯ เจ้าคณะมณฑลภูเก็ต ในสมัยนั้น ตามระบุในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๑ หน้า ๕๘ ศก ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๖)
พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็น พระครูเจ้าคณะรองเมืองระนอง ที่ พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ ตามความในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ หน้า ๑๗๗๙ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ความว่า “ให้พระครูบัน วัดอุปนันทาราม เปนพระครูศีลพงษ์คณารักษ์ เจ้าคณะรอง เมืองระนอง พัดพุดตาลพื้นเยียรบับสลับสี”

ที่มา


หนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์.
ข้อมูลเดิมจากสื่อทั่วไป.
กลุ่ม พระคณาจารย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผู้แนะนำข้อมูล


จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง
เกรียงศักดิ์ เมฆสุข


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook