|
VIEW : 1,005
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คน ดังนี้
๑. นายช่วย
๒. นายทอง (หลวงพ่อทอง ปิยธโร)
๓. นายแก้ว
๔. นางหมิก
๕. นายนุ่น
ในวัยเด็ก บิดามารดาได้ส่งให้เข้าศึกษาอักขระสมัย ขอม ไทย ในสำนักของพระอธิการใย วัดห้วยใหญ่ จนสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างชำนาญ จากนั้นก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรโดยพระอาจารย์ใย
พระอาจารย์ใยได้พาไปทำการอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒ (อายุ ๒๐ ปี) ณ วัดหน้าเมือง เมืองตะกั่วป่า (ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา) โดยมี เจ้าอธิการยัง วัดพระธาตุคีรีเขต (วัดลุ่ม) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หนู เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ปิยธโร” แปลว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่รัก
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว พระอาจารย์ใยได้พาพระทอง เดินทางกลับมาจำพรรษา ณ วัดห้วยใหญ่ ที่เดิม แต่ไม่นาน พระทอง ได้เดินทางไปศึกษาทางธรรมต่อ ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ไม่สามารถสืบได้ว่าท่านไปศึกษาในสำนักของพระอาจารย์ใด หรือวัดไหน เมื่อได้รับการอบรมพระธรรมวินัย และเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนชินชำนาญ จึงเดินทางกลับมาวัดห้วยใหญ่ ต่อมาพระอาจารย์ใยมรณภาพ หลวงพ่อทองก็ได้ครองวัดห้วยใหญ่สืบต่อมา
หลวงพ่อทองจะเป็นผู้เคร่งครัดพระธรรมวินัยเป็นนิสัย ไม่มีจุดด่างพร้อย อุปนิสัยเยือกเย็น สุขุม รอบคอบ มีความเมตตาสูง เมื่อตอนที่ท่านครองวัดห้วยใหญ่แล้ว ท่านไม่ได้อยู่ประจำวัดห้วยใหญ่เลยทีเดียว เมื่อชาวบ้านย้ายไปทำมาหากิน ณ ที่ใด ท่านจะตามไปด้วย ไปปลูกศาลา แล้วอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ณ ที่นั่น เพื่อไม่ให้ชาวบ้านห่างกุศลผลทาน ไม่ให้ห่างพระศาสนา จนทำให้ศาลาที่กล่าวมานั้นมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน เช่น ศาลาที่บ้านน้ำพุ ศาลาที่บ้านห้วยคลุ้ม เป็นต้น
ครั้นต่อมาหลวงพ่อทองอายุย่างเข้า ๕๐ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๒ ก็ได้มาสร้างศาลาที่พักสงฆ์ขนาดเล็กหลังหนึ่งที่บ้านนา พื้นที่ตั้งอยู่ระหว่างโรงเรียนบ้านนา กับ โรงเรียนอรุณพงศ์พิทยาในปัจจุบัน แต่แล้วสร้างได้ไม่นานก็ได้รื้อ เพราะเป็นที่ของทางราชการ ชาวบ้านต่างเดือดร้อนเพราะไม่มีที่ทำบุญ สมัยนั้นที่ว่าการอำเภอบ้านนาตั้งอยู่ในตำบลบ้านนา เรียกว่า อำเภอบ้านนา สมัยนั้น นายวิญญ์ พลวิชัย เป็นกำนันตำบลบ้านนา นายจันทร์ สมบูรณ์กุล เป็นนายอำเภอบ้านนา นายกลับ (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นปลัดอำเภอบ้านนา จึงพร้อมเพรียงกัน ขอให้นายวิญญ์ พลวิชัย ขอที่ดินของโรงเรียน (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนา) เพื่อมาสร้างเป็นวัดต่อไป นายจันทร์ สมบูรณ์กุล และ นายกลับ นายอำเภอและปลัดอำเภอไม่เห็นด้วย คัดค้านเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ไม่สงบ ไม่เหมาะแก่การสร้างวัด กำนันวิญญ์ พลวิชัย ก็ไม่ลดละพยายาม จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังศึกษาธิการชุมชน (ธรรมการมณฑล) ที่จังหวัดสงขลา โดยขอที่ดินโรงเรียนบ้านนาเพื่อมาตั้งเป็นวัด จนตอบคำร้องมาอนุญาตให้จั้งเป็นวัด เนื้อที่ ๑๒ ไร่ แต่ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ คับแคบไป ยังติดที่ลุ่มด้วย ไม่พอกับการตั้งวัด จึงได้เขียนคำร้องใหม่ส่งไป เมื่อธรรมการมณฑลได้รับดังนั้นจึงมีหนังสืออนุญาตให้พื้นที่เพิ่มเติม เป็น ๓๐ ไร่ (กว้าง ๔ เส้น ยาว ๖ เส้น) ต่อมาผู้มีจิตศรัทธาถวายที่เพิ่มทางทิศตะวันออก จำนวน ๕ ไร่ รวมเนื้อที่ในการตั้งวัด ๓๕ ไร่ (กว้าง ๕ เส้น ยาว ๗ เส้น = ๒๐๐ x ๒๘๐ เมตร)
เมื่อได้ที่ดินในการสร้างวัดแล้ว ต่อมานายตัก (ไม่ทราบนามสกุล) ได้ถวายศาลา ๑ หลัง ชาวบ้านช่วยกันชักลากศาลานั้นเข้ามาในพื้นที่วัดได้สำเร็จ ต่อมาจึงได้อาราธนาให้มาอยู่ประจำจนวาระสุดท้าย
ในสมัยนั้นหลวงพ่อทองยังไปๆมาๆระหว่างวัดห้วยใหญ่ กับ วัดทองประธานโดยใช้การเดินเท้า ซึ่งสมัยนั้นเป็นป่าทั้งนั้น มีสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น เสือ ช้างป่า กระทิง วัวป่า เป็นต้น แต่หลวงพ่อทองท่านมิหวั่น ท่านมีพรหมวิหารประดับจิต เวลาไปๆ มาๆ ท่านจึงแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งปวง และก็มีประทัดไว้จุดไล่ เป็นอุบายที่ทำมาจนปัจจุบัน คือในปัจจุบันเวลาแก้บนหลวงพ่อทอง จะจุดประทัดกันเสียงดังสนั่น
เมื่อหลวงพ่อทองมาอยู่ที่วัดทองประธานแบบถาวรท่านได้ชักชวนสาธุชนชาวบ้านพัฒนาวัด สร้างเสนาสถานต่างๆ เพื่อให้ดูเรียบร้อยสบายตา เงียบสงบเหมาะแก่การปฎิบัติธรรม ท่านมักสอนศีลธรรมกับชาวบ้านเสมอมิได้ขาด ท่านเป็นพระนักเทศน์ เป็นพระนักปฏิบัติ มีความสมถะ อีกทั้งยังเป็นพระนักพัฒนาอีกด้วย นับว่าหลวงพ่อทองเป็นพระผู้ทรงคุณแห่งบ้านนาเดิม ทั้งมีอภินิหารต่างๆ มีวาจาสิทธิ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่ท่านได้ปฏิบัติธรรมจนสำเร็จฌาณขั้นสูง เป็นที่เคารพของชาวบ้านอย่างกว้างขวาง
เจ้าอาวาสวัดห้วยใหญ่ | |
เจ้าอาวาสวัดทองประธาน |
พ.ศ. ๒๔๗๑ พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) วัดราชาธิวาส กทม. ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช และภูเก็ต ท่านได้เดินทางมาตรวจการณ์คณะสงฆ์ด้วยตัวท่านเอง เมื่อมาถึงท่านได้ให้กำนันวิญญ์ พลวิชัย เดินนำหน้าพาท่านไปตรวจเยี่ยมที่วัดทองประธาน โดยตลอดทาง กำนันวิญญ์ ได้เล่าประวัติเกี่ยวกับการสร้างวัด และกล่าวถึงหลวงพ่อทอง ให้ท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (เซ่ง) ได้ฟัง เมื่อถึงวัด หลวงพ่อทองก็ให้การต้องรับอย่างดี ได้พบปะสนทนากัน สมัยนั้นวัดทองประธานยังไม่มีชื่อ จากนั้นท่านเจ้าคุณธรรมวโรดม (เซ่ง) ก็ได้ตั้งชื่อวัดให้ ว่า “วัดทองประธาน” เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงพ่อทอง พระนักพัฒนาผู้ทรงศีล ก็ได้เรียกวัดทองประธานมาตั้งแต่บัดนั้นจนปัจจุบันนี้ อีกทั้งวัดทองประธานได้สร้างขึ้นพร้อมๆกับวัดตรณาราม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี อีกด้วย ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (เซ่ง) ได้ริเริ่มจัดสร้างขึ้น
เชื่อกันว่าเป็นอภินิหารของหลวงพ่อทอง ที่เกิดขึ้นหลังท่านมรณภาพ ซึ่งวัดทองประธานแห่งนี้เป็นวัดที่หลวงพ่อทองได้ริเริ่มสร้างไว้ตั้งแต่แรก ต่อมาในสมัยของ พระวิญญ์ ปิยวณฺโณ (พระครูบวรวัฒนกิจ : รับสมณศักดิ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐) ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทองประธานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ต่อมา ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๑ สมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์ พระปลัดวิญญ์ ปิยวณฺโณ ท่านได้สร้างอุโบสถ และพัฒนาวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงวัดห้วยใหญ่ด้วย เป็นต้น ครั้งเมื่อสร้างอุโบสถวัดทองประธานเสร็จแล้ว ต่อมาเป็นการสร้างพระประธานประดิษฐานในอุโบสถ ซึ่งได้หาช่างมาและสร้างด้วยซีเมนต์ โดยสร้างส่วนอื่นๆเสร็จแล้ว เหลือส่วนเศียรของพระประธาน ในการทำให้ส่วนศอ (คอ) และเศียร (ศีรษะ) เชื่อมกันนั้น ช่างได้พยายามทำเท่าไหร่ก็ตามก็ไม่สามารถเชื่อมติดกันได้ โดยใช้เวลานานมาก ศอกับเศียรของพระประธาน ก็ไม่เชื่อมติดกันสักที ทำให้นายช่างจนปัญญา ในเหตุการณ์มี พระปลัดวิญญ์ (พระครูบวรวัฒนกิจ) เป็นต้น ต่างหวลคิดกันว่าน่าจะนำอัฐิของหลวงพ่อทองมาลองใส่เข้าดู เพราะหลังจากฌาปนกิจศพ อัฐิของท่านก็ได้อยู่ที่วัดห้วยใหญ่ทั้งหมด และวัดทองประธานซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้ริเริ่มสร้าง อีกทั้งชื่อวัดก็ตั้งขึ้นเพื่อสดุดีบารมีท่าน จากนั้นก็ได้ไปนำอัฐิของหลวงพ่อทองจากสถูปเจดีย์วัดห้วยใหญ่ จากนั้นได้นำมาผสมปูนแล้วนำไปเชื่อม ซึ่งศอกับเศียรพระประธานเชื่อมต่อกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นบุญญาบารมีของหลวงพ่อทองที่ท่านมาอนุโมทนาในการครั้งนี้ วัดทองประธาน ซึ่งพระประธานมีอัฐิของหลวงพ่อทอง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดทองประธาน อำเภอบ้านนาเดิม มาช้านาน
รูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงของหลวงพ่อทอง ก่อนกระทำการปั้น ก็ได้มีการบวงสรวง จากนั้นก็ปั้นขึ้นมา และได้ บรรจุ อัฐิ ของท่านไว้ในรูปปั้นด้วย เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจหลักของชาวบ้านนาเดิม ซึ่งในทุกวันนี้ มีผู้มากราบไหว้ปิดทองอย่างไม่ขาดสาย
ท่านมาจำพรรษา อบรมสั่งสอนชาวบ้านวัดทองประธาน เป็นเวลา ๘ ปีเศษ ท่านก็เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา มีอาการทรุดหนักลงเรื่อยๆ มีศิษยานุศิษย์มากมาย มาช่วยเฝ้าดูแลรักษา แต่ในที่สุดแล้ว ท่านก็ได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ปีมะแม สิริอายุ ๗๒ ปี พรรษา ๕๒ ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน จากนั้นได้ทำการปิดศพเอาไว้ ๑ ปี ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้ทำการฌาปนกิจ แล้วเก็บอัฐิธาตุบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ ณ วัดห้วยใหญ่
|
หนังสือประวัติย่อ หลวงพ่อทอง ปิยธโร เรียบเรียงโดย พระศรัณยู วิเสสคุโณ วัดทองประธาน พิมพ์แจกในงานพุทธาภิเษกและปิดทองรูปปั้นหลวงพ่อทองขนาดเท่าองค์จริง ๒๑-๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕. |
เกรียงศักดิ์ เมฆสุข : เรียบเรียง |
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook