พระอธิการเปี่ยม อินฺทสุวณฺโณ | พระสังฆาธิการ

พระอธิการเปี่ยม อินฺทสุวณฺโณ


 
เกิด พ.ศ. ๒๔๑๒
อายุ ๘๗ ปี
อุปสมบท ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๒
พรรษา ๖๗
มรณภาพ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙
วัด วัดทุ่งหลวง
ท้องที่ สุราษฎร์ธานี
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 941

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระอธิการเปี่ยม อินฺทสุวณฺโณ มีนามเดิมว่า เปี่ยม ช่วยบำรุง เกิดเมื่อ เดือน ๗ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ โยมบิดาชื่อหมื่นไกร ช่วยบำรุง โยมมารดาชื่อนางทิม ช่วยบำรุง เป็นคนพื้นเพเดิมบ้านโคกกรวด ตำบลทุ่งหลวง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๔ คน ดังนี้
     ๑. นายแสง
     ๒. นายเสม
     ๓. นายเปี่ยม (พระอธิการเปี่ยม อินฺทสุวณฺโณ)
     ๔. นายส้ม

     ในวัยเด็กได้เข้าศึกษาอักขระสมัย ขอม-ไทย จนมีความรู้พอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้


บรรพชา อุปสมบท

     บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๗ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๙ ณ วัดเวียงสระ

     อุปสมบท เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลู ณ พัทธสีมาวัดโคกอินทนิน ตำบลทุ่งหลวง อำเภอบ้านนาสาร (ปัจจุบันอำเภอเวียงสระ) จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี เจ้าอธิการดำ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการตุ่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “อินฺทสุวณฺโณ” แปลว่า ผู้มีวรรณะดุจพระอินทร์

     หลังจาก อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว “พระเปี่ยม อินฺทสุวณฺโณ” ได้เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดโคกอินทนินธาราราม เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ระยะหนึ่ง และท่านก็ได้จาริกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะไปศึกษาในสำนักพระครูกลาย คงฺคสุวณฺโณ วัดหาดสูง และที่ต่างๆ เช่น พื้นที่พุทธสถานในไทย และพม่า เป็นต้น ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๙ ชาวบ้านทุ่งหลวงได้นิมนต์ท่านไปจำพรรษาและพัฒนา “วัดโคกกรวด” ซึ่งเป็นวัดร้าง หลวงพ่อเปี่ยมได้เข้ามาบูรณะ ปฏิสังขรณ์ จนมีความเจริญขึ้นมา และได้เปลี่ยนชื่อจาก วัดโคกกรวด เป็น “วัดทุ่งหลวง” ตามชื่อพื้นที่บริเวณที่ตั้งวัดที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกชื่อว่าบ้านทุ่งหลวง

     วัดทุ่งหลวงสมัยนั้นเป็นวัดที่เจริญมาก เนื่องจากหลวงพ่อเปี่ยม เป็นพระสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นพระนักพัฒนา มีผู้เคารพศรัทธาอย่างกว้างขวาง มีความคิดอ่านหลักแหลมยาวไกล และที่สำคัญท่านมีความเชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์ และไสยศาสตร์ และสำเร็จอภิญญา มีอภินิหารเป็นที่ประจักษ์มากมาย ท่านสามารถย่อย่นระยะทางได้ ทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า แหวกฝน ฝนตกไม่โดนตัวท่าน เป็นต้น ท่านเป็นพระสงฆ์ที่สันโดษ มักน้อย สมถะ พูดน้อย และมีวาจาสิทธิ์อีกด้วย ท่านงามด้วยศิลาจารวัตร เคร่งพระธรรมวินัย บิณฑบาตร กวาดวัด สวดมนต์ อันเป็นกิจของสงฆ์ท่านมิขาดเลย อีกทั้งพ่อท่านเปี่ยมยังเป็นศิษย์พี่พ่อท่านคล้าย จนฺทสุวณโณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อพ่อท่านคล้ายมีกิจนิมนต์เดินทางผ่านวัดทุ่งหลวง พ่อท่านคล้ายจะแวะกราบนมัสการและสนทนาธรรมด้วยเสมอ พ่อท่านคล้าย เอ่ยนามเรียกหลวงพ่อเปี่ยมว่า “พี่หลวง” เพราะ หลวงพ่อเปี่ยม มีความอาวุโสกว่าพ่อท่านคล้าย ๗ ปี ทั้งอายุและพรรษา

     หลวงพ่อเปี่ยมยังเป็นผู้ส่งเสริมการศึกษา สำนักวัดทุ่งหลวง จึงเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา โดยตัวท่านเอง จะเป็นครูสอนหนังสือแก่เด็กๆ รวมทั้งสอนนักธรรมแก่ภิกษุสามเณรอีกด้วย

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

ก่อน พ.ศ. ๒๔๖๕  เป็น เจ้าคณะหมวด (ตำบล) แขวงพระแสง
พ.ศ. ๒๔๖๕  เป็น พระอุปัชฌาย์
ก่อน พ.ศ. ๒๔๗๓  เป็น รองเจ้าคณะแขวงลำพูน (พื้นที่รวม อ.บ้านนาสาร และ อ.เวียงสระ)
พ.ศ. ๒๔๗๓  เป็น เจ้าอาวาสวัดทุ่งหลวง
 พระอุปัชฌาย์ ประจำอำเภอ

ศิษย์ของหลวงพ่อเปี่ยมวัดทุ่งหลวง


  • พระอธิการพร้อม เกสโร วัดคลองฉนวน พ่อท่านพร้อมเป็นศิษย์พุทธาคมของพ่อท่านเปี่ยม เมื่อมีการไหว้ครู หรือมีพิธีใดๆ พ่อท่านพร้อมจะกล่าวกาดครูถึงหลวงพ่อเปี่ยมเสมอ โดยพ่อท่านพร้อมจะเรียกหลวงพ่อเปี่ยมว่า “อาจารย์เปี่ยม”
  • พระครูอภัยเขตนิคม (พ่อท่านเซ่ง อภโย) วัดบ้านส้อง พ่อท่านเซ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอบ้านนาสาร (สมัยนั้นรวมพื้นที่อำเภอเวียงสระด้วย) พ่อท่านเซ่งให้การเคารพนับถือพ่อท่านเปี่ยมในฐานะครูบาอาจารย์รูปหนึ่งของท่าน และยังไปมาหาสู่บ่อยครั้ง จวบจนมรณภาพ พ่อท่านเซ่งก็ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการบำเพ็ญกุศลศพ
  • พระครูธำรงวุฒิชัย (พ่อท่านยุ้ง เกสโร) วัดกะเปียด พ่อท่านยุ้งเป็นศิษย์พุทธาคมในหลวงพ่อเปี่ยม อีกทั้งนำแนวปฏิบัติของอาจารย์มาใช้ปฏิบัติ อีกทั้งวัตถุมงคลรุ่น ๑ ของพ่อท่านยุ้งนั้น มีเหรียญรุ่น ๑ ของหลวงพ่อปลอด วัดนาเขลียง และ เหรียญรุ่น ๑ ของหลวงพ่อเปี่ยม วัดทุ่งหลวง ผสมเป็นชนวนในการหล่อรูปพระของท่าน
  • พระครูลอย เจตสิกาโร วัดเวียงสระ เป็นพระผู้สืบพุทธาคมและยึดหลักธรรมคำสอน ตลอดจนแนวปฏิบัติของหลวงพ่อเปี่ยมผู้เป็นอาจารย์ไปใช้ดำรงชีวิตสมณเพศ
  • พระครูจันทวุฒิคุณ (พ่อท่านบุญมี สิริจนฺโท) ป.ธ.๔ วัดทุ่งหลวง พ่อท่านบุญมีเป็นศิษย์ใกล้ชิดผู้อุปัฏฐากดูแลพ่อท่านเปี่ยม และเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งหลวงต่อจากพ่อท่านเปี่ยม ท่านได้ยึดหลักธรรมและแนวปฏิบัติของพ่อท่านเปี่ยมมาใช้ดำรงชีวิต และนำวิชาความรู้ที่ได้ศึกษามากระทำประโยชน์แก่สังคม และประชาชน ตลอดสมณเพศ

มรณกาล


     พระอธิการเปี่ยม อินฺทสุวณฺโณ มรณภาพอย่างสงบด้วยความชรา เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เวลา ๐๒.๕๕ น. ตรงกับวันศุกร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม ณ กุฏิของท่าน วัดทุ่งหลวง ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ ของบรรดาศิษยานุศิษย์ที่คอยปรนนิบัติอาการอาพาธ สิริอายุ ๘๗ ปี พรรษา ๖๗



ที่มา


หนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๑ พ.ศ.๒๔๖๕.
หนังสือ “ปิยานุสรณ์” พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ พระอธิการเปี่ยม อินฺทสุวณฺโณ วัดทุ่งหลวง วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙ เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย พี่เก่ง (คุณเก่ง เวียงสระ) เก่ง เวียงสระ.
เอกสารสำรวจพระคณาธิการ สำนักงานคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดไตรธรรมารามฯ บันทึกโดย พระวัตตจารีศีลสุนทร ศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ พระเทพรัตนกวี (เกตุ ธมฺมวโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี บันทึกเมื่อ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔.
ภาพจากกลุ่มเฟสบุ๊ค ชมรมพระเครื่องหลวงพ่อเปี่ยม วัดทุ่งหลวง เก่ง เวียงสระ.

ผู้แนะนำข้อมูล


จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook